คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 7 ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ซึ่งมีผลต่อผู้ค้ำประกันด้วย เมื่อสัญญากู้ยืมเงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ผู้ร้องมีหนังสือให้ลูกหนี้ที่ 7 มาปรับโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรก ลูกหนี้ที่ 7 ได้รับหนังสือ ครั้งที่ 2 ลูกหนี้ที่ 7 ไม่มารับหนังสือภายในกำหนด ผู้ร้องจึงประกาศหนังสือพิมพ์แทน แต่ลูกหนี้ที่ 7 มิได้มาติดต่อกับเจ้าหนี้แต่ประการใด จึงถือว่าลูกหนี้ที่ 7 ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่เจ้าหนี้สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนที่ลูกหนี้ที่ 7 ยื่นคำคัดค้านต่อสู้ว่า ตนเองมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้นั้น ก็มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าตนเองมีทรัพย์สินใดบ้างพอชำระหนี้หรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ตามที่ลูกหนี้ที่ 7 อ้าง กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 7 ล้มละลาย แต่ลูกหนี้ที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 7 เด็ดขาดตามที่ผู้ร้องขอมาในอุทธรณ์ไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ 7 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 และมาตรา 84

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งเจ็ดเด็ดขาด
ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา
ลูกหนี้ที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 เด็ดขาด ให้ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร ยกคำร้องของผู้ร้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ที่ 7 เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลล้มละลายกลางตรวจสอบพบว่าลูกหนี้ที่ 7 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2559
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า สำหรับลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ คดีในส่วนลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงยุติตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องข้อแรกมีว่า หนี้ของผู้ร้องสำหรับลูกหนี้ที่ 7 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 จำนวนเงิน 8,500,000 บาท ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 ในวงเงิน 3,000,000 บาท และทำสัญญากู้เงินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 จำนวนเงิน 9,000,000 บาท โดยลูกหนี้ที่ 7 ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาทั้งสามฉบับในวันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2543 ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ รับว่ามีหนี้ค้างชำระ 56,258,466.59 บาท หลังจากนั้นได้มีการคำนวณยอดหนี้ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 เป็นหนี้ที่ค้างอยู่เป็นเงิน 76,192,214.12 บาท และได้ฟ้องลูกหนี้ทั้งเจ็ดต่อศาลล้มละลายกลางในวันดังกล่าว ดังนั้น การที่ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 7 ผู้ค้ำประกันด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ซึ่งมีผลต่อผู้ค้ำประกันด้วย เมื่อสัญญากู้ยืมเงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ผู้ร้องนำคดีมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่ 17 มีนาคม 2543 หนี้ของผู้ร้องสำหรับลูกหนี้ที่ 7 จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ลูกหนี้ที่ 7 ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่ผู้ร้องบอกกล่าวหรือไม่ ปัญหานี้ศาลล้มละลายกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไป เห็นว่า ผู้ร้องมีหนังสือให้ลูกหนี้ที่ 7 มาปรับโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกตามหนังสือลงวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ลูกหนี้ที่ 7 ได้รับหนังสือในวันที่ 2 กันยายน 2552 ครั้งที่ 2 ตามหนังสือลงวันที่ 8 ตุลาคม 2552 แต่ลูกหนี้ที่ 7 ไม่มารับหนังสือภายในกำหนด ผู้ร้องจึงประกาศหนังสือพิมพ์แทน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 แต่ลูกหนี้ที่ 7 มิได้มาติดต่อกับเจ้าหนี้แต่ประการใด จึงถือว่าลูกหนี้ที่ 7 ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่เจ้าหนี้สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนที่ลูกหนี้ที่ 7 ยื่นคำคัดค้านต่อสู้ว่า ตนเองมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้นั้น ก็มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าตนเองมีทรัพย์สินใดบ้างพอชำระหนี้หรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ตามที่ลูกหนี้ที่ 7 อ้าง กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 7 ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 7 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ลูกหนี้ที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 7 เด็ดขาดตามที่ผู้ร้องขอมาในอุทธรณ์ไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ 7 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 และมาตรา 84
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ 7 ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 และมาตรา 84 ให้กองมรดกของลูกหนี้ที่ 7 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยหักจากกองมรดกของลูกหนี้ที่ 7 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง

Share