แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถือเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว บุคคลผู้พบเหตุความผิดดังกล่าวมีอำนาจที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ และพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กล่าวโทษเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121
จำเลยมีตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบล บ. เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ใน ขณะเกิดเหตุความผิดคดีนี้ แต่ตำแหน่งของจำเลยเป็นเพียงผู้บริหารท้องถิ่นมิใช่บุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและลงมติชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องบังคับตามมาตรา 84 ที่ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือตามมาตรา 89 ที่ให้ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการตามมาตรา 88 เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งได้ความจากพันตำรวจโท ว. ว่ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ได้รับสำนวนการสอบสวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเข้าลักษณะเป็นกรณีตามมาตรา 84, 88 และ 89 ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 6 ดังนั้นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการย่อมมีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดีความผิดนี้ โดยมิพักต้องคำนึงถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนในการรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ
แม้คำฟ้องโจทก์กล่าวบรรยายว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ข. ได้สอบสวนแล้ว และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นผู้สอบสวนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อเท็จจริงและการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นเพียงการกล่าวบรรยายฟ้องเพื่อให้ทราบว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีโดยมีการสอบสวนแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157 และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2061/2554 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2061/2554 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2550 ทำหน้าที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบการบริหารราชการในกิจการของเทศบาลตำบลบ้านต้าให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลตำบลบ้านต้า เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างเทศบาล และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 และระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 จำเลยมีคำสั่งอนุมัติให้จัดจ้างนายไสว เป็นผู้รับจ้างกำจัดขยะในเขตเทศบาลตำบลบ้านต้า ประจำปีงบประมาณ 2549 และ 2550 ตามลำดับ โดยวิธีพิเศษตามใบเสนอราคาที่นายไสวได้ยื่นเสนอไว้ก่อนแล้วเพียงรายเดียว ตกลงค่าจ้างเหมาปีละ 120,000 บาท ชำระค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท และเทศบาลตำบลบ้านต้าได้ตั้งฎีกาเบิกเงินค่าจ้างชำระแก่นายไสวตามข้อตกลงจนครบถ้วน ต่อมานายณรงค์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านต้าตำแหน่งประธานสภาเทศบาลตำบลกับพวกซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านต้า ตรวจสอบพบว่านายไสวประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม ไม่มีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ในการกำจัดขยะ ไม่มีที่ดินเป็นของตน ไม่มีศักยภาพในการเป็นผู้รับจ้างกำจัดขยะ และลายมือชื่อนายไสวผู้รับเงินค่าจ้างในฎีกามีข้อพิรุธ และยังพบว่าจำเลยสั่งให้พนักงานของเทศบาลตำบลบ้านต้าทำการเก็บขยะไปทิ้ง นำรถของเทศบาลไปขุดตักบ่อขยะและฝังกลบในที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ ของนายออน บิดาของจำเลย โดยนายไสวไม่ให้ดำเนินการใด ๆ แล้วจำเลยมอบหมายให้พนักงานเทศบาลตำบลบ้านต้าไปรับเช็คค่ากำจัดขยะของนายไสว นำไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วมอบให้จำเลย นายณรงค์กับพวกจึงร้องเรียนกล่าวโทษจำเลยต่อนายอำเภอขุนตาล จากนั้นจึงกล่าวโทษจำเลยต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการสอบสวนดำเนินคดีจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้มิได้กระทำโดยผู้เสียหายที่แท้จริง เป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามข้ออ้างของจำเลยว่า นายณรงค์ นายบุญยอม นายบุญมา และนายมูล ผู้ร้องเรียนกล่าวโทษจำเลยต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการจะเป็นเพียงสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านต้า มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนเทศบาลตำบลบ้านต้า และไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายกเทศมนตรีตำบลบ้านต้าหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกเทศมนตรีให้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยก็ตาม แต่ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถือเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว บุคคลผู้พบเหตุความผิดดังกล่าวมีอำนาจที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ และพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กล่าวโทษเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปมีว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านต้า เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุความผิดคดีนี้ แต่ตำแหน่งของจำเลยเป็นเพียงผู้บริหารท้องถิ่นมิใช่บุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและลงมติชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องบังคับตามมาตรา 84 ที่ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือตามมาตรา 89 ที่ให้ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการตามมาตรา 88 เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งได้ความจากพันตำรวจโทวิสุทธิ์ ว่ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ได้รับสำนวนการสอบสวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเข้าลักษณะเป็นกรณีตามมาตรา 84, 88 และ 89 ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 6 ดังนั้น พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการย่อมมีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดีความผิดนี้ โดยมิพักต้องคำนึงถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนในการรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษของนายณรงค์กับพวกดังข้อต่อสู้ของจำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์กล่าวบรรยายว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรขุนตาลได้สอบสวนแล้ว และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นผู้สอบสวนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อเท็จจริงและการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นเพียงการกล่าวบรรยายฟ้องเพื่อให้ทราบว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีโดยมีการสอบสวนแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 120 ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้
พิพากษายืน