แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสของเป็นผู้อนุบาลของ จ. ที่เป็นคนไร้ความสามารถนั้น บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่งๆ ก็ได้ ซึ่งตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลของ จ. ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ และมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่จำเลยทั้งสองกระทำการแทน จ. ต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมให้การและฟ้องแย้งมานั้น จึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมา จ. ถึงแก่ความตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของจำเลยทั้งสองที่มีต่อ จ. ซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลงในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1572 (เดิม), 1581 (เดิม) แก้ไขใหม่มาตรา 1598/6 และ 1598/18 แล้ว และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้ามรดกจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม ก็หามีผลทำให้การขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ของจำเลยที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจขัดต่อกฎหมาย กลับมีผลเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองเปิดทางเข้าออกห้องเช่า 4 ห้อง ตามสัญญาเช่าให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาท 4 ห้องบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1030 ถนนทวีวงศ์ ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายซึ่งอาจให้เช่าห้องพิพาททั้ง 4 ห้อง ในอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องพิพาท และห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาล 700 บาท แก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ทรัพย์พิพาทในคดีนี้เป็นห้องเช่า 4 ห้อง บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1030 ถนนทวีวงศ์ ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต อันเป็นของนางสาวจินตนา นางสาวจินตนาตกเป็นคนไร้ความสามารถ จำเลยที่ 1 และนางคมคายได้รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวให้เป็นผู้อนุบาลนางสาวจินตนาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ต่อมานางคมคายถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวให้เป็นผู้อนุบาลร่วมกันของนางสาวจินตนาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้อนุบาลร่วมกันของนางสาวจินตนา แต่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งคดีในฐานะเป็นผู้อนุบาลนางสาวจินตนา ขอให้บังคับโจทก์และบริวารออกไปจากห้องพิพาทพร้อมเรียกค่าเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องความว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาท 4 ห้องของนางสาวจินตนากับจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะทำสัญญา จำเลยที่ 1 และนางคมคาย เป็นผู้อนุบาลของนางสาวจินตนาร่วมกันและโจทก์ยังบรรยายต่อไปว่า ต่อมานางคมคายถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลนางสาวจินตนาร่วมกัน ในระหว่างอายุสัญญาเช่าคือ วันที่ 5 มีนาคม 2522 จำเลยทั้งสองให้บริวารปิดกั้นห้องพิพาท 4 ห้องของโจทก์ ทั้งที่โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า ดังนี้ เห็นได้ชัดว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้อนุบาลนางสาวจินตนา หาได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวไม่ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายและเปิดทางเข้าออก อาจดูเหมือนเป็นการบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะส่วนตัวดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจ ก็เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดี หาทำให้ฟ้องโจทก์ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้อนุบาลของนางสาวจินตนากลายเป็นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวไม่ ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาลนางสาวจินตนา และสาระสำคัญของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องสัญญาเช่าเดียวกันกับที่โจทก์ใช้เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาศัยข้ออ้างดังกล่าวเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องแย้งโจทก์ให้ออกไปจากห้องพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสของนางสาวจินตนาเป็นผู้อนุบาลของนางสาวจินตนาที่เป็นคนไร้ความสามารถเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 นั้น บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่งๆ ก็ได้ ซึ่งตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในคดีหมายเลขแดงที่ 25/2548 ระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลของนางสาวจินตนาผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ และมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่จำเลยทั้งสองกระทำการแทนนางสาวจินตนาต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมให้การและฟ้องแย้งมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552 นั้น จึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมานางสาวจินตนาถึงแก่ความตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของจำเลยทั้งสองที่มีต่อนางสาวจินตนาซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลงในภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1572 (เดิม), 1581 (เดิม) แก้ไขใหม่มาตรา 1598/6 และ 1598/18 แล้ว และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวจินตนาให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนนางสาวจินตนาเจ้ามรดกจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม ก็หามีผลทำให้การขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ของจำเลยที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจขัดต่อกฎหมาย กลับมีผลเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ