คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ “เป็นทางสาธารณะ” แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า โจทก์ที่ 1 ยินยอมจ่ายค่าชดเชยราคาที่ดินพิพาทที่ 1 โฉนดเลขที่ 20439 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีลักษณะเป็นทางยาวเนื้อที่ 34 ตารางวา ให้กับจำเลยเป็นเงิน 150,000 บาท และจำเลยยินยอมยกที่ดินพิพาทที่ 1 ของตน ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ที่ 2 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ของตนบางส่วนมีลักษณะเป็นทางยาวในส่วนที่ดินพิพาทที่ 2 ด้านติดกับที่ดินพิพาทที่ 1 กว้าง 2 เมตร และความยาวตลอดแนวที่ดินดังกล่าว ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยโจทก์ที่ 1 ยินยอมจ่ายค่าชดเชยราคาที่ดินให้กับโจทก์ที่ 2 อัตราตารางวาละ 15,000 บาท ของจำนวนที่ดินที่โจทก์ที่ 2 ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และโจทก์ที่ 3 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21965 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ของตนบางส่วนมีลักษณะเป็นทางยาว ในส่วนที่ดินพิพาทที่ 3 เนื้อที่ 12 ตารางวา ด้านติดกับที่ดินพิพาทที่ 1 กว้าง 2 เมตร และความยาวตลอดแนวที่ดินดังกล่าวจนสุดแนวเขตที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 ของตนบางส่วนตามแนวเขตที่ดินในส่วนที่ดินพิพาทที่ 4 เนื้อที่ 30 ตารางวาด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 3 ให้กับโจทก์ที่ 3 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเนื่องจากในส่วนค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น และโจทก์ทั้งสามตกลงให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการย้ายเสาไฟฟ้าในที่พิพาททั้งหมดให้ติดตั้งชิดแนวที่ดินที่พิพาทด้านทิศเหนือ และดำเนินการย้ายเสาไฟฟ้าที่มีหม้อแปลงไฟฟ้าในที่ดินที่พิพาทไปติดตั้งบริเวณที่ดินสุดแนวเขตที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันตก โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและโจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงยินยอมจะดำเนินการตามข้อตกลงให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา
ภายหลังมีคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2556 แก่จำเลยตามคำขอของโจทก์ที่ 3 และต่อมาโจทก์ที่ 3 นำคำพิพากษาตามยอมไปขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง มีหนังสือลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สอบถามเรื่องการดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอม เนื่องจากหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ที่ 2 และจำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 ของตนให้แก่ผู้ร้อง การใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนเป็นทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ 1 และแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ 2 จะมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีหรือไม่อย่างไร วันที่ 15 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า ผู้ร้องรับโอนที่ดินจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องยกที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และเพิกถอนกระบวนการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
โจทก์ที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
โจทก์ที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
โจทก์ที่ 3 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ก่อนพิจารณาจำเลยถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียกนายวิทวัส ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ
ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 3 โฉนดเลขที่ 140411 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 12 ตาราวา ให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ หากจำเลยที่ 3 (ที่ถูก โจทก์ที่ 3) ไม่ปฏิบัติให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 โดยถือเอาคำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและบังคับตามยอม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 โจทก์ที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 3 ของตนโดยแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 140411 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ไปแล้ว แต่จำเลยและโจทก์ที่ 2 ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ของตน ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เมื่อวันที่ 16 และวันที่ 14 กันยายน 2551 โจทก์ที่ 2 และจำเลยกลับโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 ของตน ให้กับผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ที่ 1 เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ที่ 2 และจำเลยจึงไม่เรียกร้องค่าชดเชยราคาที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เนื่องจากได้ขายที่ดินและได้รับเงินค่าที่ดินจากผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ที่ 1 ไปแล้ว หลังจากที่ผู้ร้องได้เป็นเจ้าของที่ดินแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ร้องยกที่ดินพิพาทที่ 4 ในส่วนที่รับโอนจากโจทก์ที่ 2 โดยแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 186521 ให้โจทก์ที่ 3 เป็นการตอบแทนตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 แต่ผู้ร้องก็ยังไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ในส่วนที่รับโอนจากจำเลยและโจทก์ที่ 2 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ที่ 2 กับจำเลยทำไว้กับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงนำคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาบังคับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมโดยอ้างว่าเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ที่ 3 แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ไปดำเนินการบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ผู้ร้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ที่ซื้อมาจากจำเลยและโจทก์ที่ 2 จำนวน 56 ตารางวา เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำพิพากษาตามยอม เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งแก่ผู้ร้องและมีหนังสือลงวันที่ 28 มีนาคม 2556 แจ้งต่อศาลชั้นต้นว่า กรณีดังกล่าวไม่อาจดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เนื่องจากสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้ทำได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมิได้ดำเนินการตามที่โจทก์ที่ 3 ร้องขอ โจทก์ที่ 3 จึงนำคำพิพากษาตามยอมไปดำเนินการบังคับคดีที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง มีหนังสือลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สอบถามเรื่องการดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอม เนื่องจากหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ที่ 2 และจำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 ให้แก่ผู้ร้อง การใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนเป็นทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ 1 และแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ 2 จะมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีหรือไม่อย่างไร วันที่ 15 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบว่า ผู้ร้องรับโอนที่ดินจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำพิพากษาตามยอม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า การที่โจทก์ที่ 3 นำคำพิพากษาตามยอมไปขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันตามข้อตกลงเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันดังที่ผู้ร้องฎีกาได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ถนนสาธารณะดังที่ผู้ร้องฎีกามา เพราะหากคู่ความมีเจตนาในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้เฉพาะโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้ทางเพียงรายเดียวแล้วนั้น ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นนั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ “เป็นทางสาธารณะ” ย่อมแสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียวแต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการได้รับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะ การแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจมายื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี ในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนกระบวนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ผู้ร้องจะมาฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ ในส่วนการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ในส่วนการดำเนินการที่สำนักงานที่ดินเพื่อให้ที่ดินตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะ เมื่อข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องดำเนินการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 (เดิม) แต่อย่างใด เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อไม่ใช่เป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลยและผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share