คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13283/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 433,840 บาท กรณีจึงเป็นหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) เมื่อเจ้าหนี้เดิมได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อทั้งสองวงเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดแก่เจ้าหนี้เดิมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยในวงเงินตามตั๋วเงินบางส่วนเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 และชำระดอกเบี้ยในวงเงินกู้ยืมเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 ยังคงมีต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นมา เจ้าหนี้เดิมทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวหรืออย่างช้าสำหรับหนี้วงเงินสินเชื่อในวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยตามรายงานภาระหนี้ก็เป็นเพียงวันที่โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังจากมีการบังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันแล้วเท่านั้น หาใช่เป็นวันที่ผิดนัดไม่ ลำพังที่โจทก์บังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันฝ่ายเดียวเพื่อนำเงินมาหักชำระหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2553 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้วงเงินสินเชื่อ และหนี้เงินกู้พ้นระยะเวลา 10 ปี และ 5 ปี ตามลำดับแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ว่าคดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เมื่อหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีต่อจำเลยทั้งสองมาจากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ตามลำดับ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้ตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ จำนวน 20,000,000 บาท และสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 20,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และนายสมบัติเป็นผู้ค้ำประกัน ทำสัญญาค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้นายสมบัติยังจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ด้วย หลังจากทำสัญญาวงเงินสินเชื่อแล้วจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2540 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท มาขายลดแก่เจ้าหนี้เดิม สัญญาจะใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ครั้นวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 โจทก์บังคับรับโอนทรัพย์จำนองตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ในราคา 12,984,000 บาท นำเงินไปหักชำระหนี้ได้บางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 433,840 บาท กรณีจึงเป็นหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) เมื่อเจ้าหนี้เดิมได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อทั้งสองวงเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดแก่เจ้าหนี้เดิมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยในวงเงินตามตั๋วเงินบางส่วนเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 และชำระดอกเบี้ยในวงเงินกู้ยืมเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 ยังคงมีต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นมา เจ้าหนี้เดิมทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวหรืออย่างช้าสำหรับหนี้วงเงินสินเชื่อในวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยตามรายงานภาระหนี้ก็เป็นเพียงวันที่โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังจากมีการบังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันแล้วเท่านั้น หาใช่เป็นวันที่ผิดนัดไม่ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ลำพังที่โจทก์บังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันฝ่ายเดียวเพื่อนำเงินมาหักชำระหนี้ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2553 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้วงเงินสินเชื่อ และหนี้เงินกู้พ้นระยะเวลา 10 ปี และ 5 ปี ตามลำดับแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาก็ตาม แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ว่าคดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์อีก เนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share