คำวินิจฉัยที่ 59/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองไว้ แต่หน่วยงานทางปกครองนั้นละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่นั้น จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดี คดีนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และโดยที่มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ กำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ในการดำเนินกิจการรถไฟและธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ และมาตรา ๙ (๔) กำหนดให้จำเลยที่ ๑ จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่างๆ ของกิจการรถไฟ จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ในการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยไว้ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ละเลยไม่ดำเนินการจัดให้มีการควบคุม ดูแลความปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ไม่จัดให้มีพนักงานมาดำเนินการกั้นทางรถไฟ กรณีไม่เปิดใช้งานเครื่องกั้นอัตโนมัติ และไม่ดูแลรักษาแนวเขตทางรถไฟปล่อยให้มีต้นไม้วัชพืชปกคลุม และติดตั้งตู้ควบคุมเครื่องกั้นทางรถไฟใกล้กับรางรถไฟบดบังทัศนียภาพการมองเห็น ทำให้ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งขับรถโดยสารไม่ประจำทางมาตามถนน ขณะเกิดเหตุไม่ทราบว่ามีรถไฟกำลังแล่นมา เป็นเหตุให้รถไฟที่จำเลยที่ ๒ ขับมาด้วยความเร็วสูง พุ่งชนรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share