แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวและแบ่งสินสมรสให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ฟ้องแย้ง และแก้ไขฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ชำระค่าเช่าบ้านพักอาศัยเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป ค่าเล่าเรียนบุตรผู้เยาว์ปีละ 1,200,000 บาท ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป ทุกปี ซึ่งค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ ปีละร้อยละ 10 ถึง 15 ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของจำเลยและบุตรผู้เยาว์ เดือนละประมาณ 150,000 บาท นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นไป และค่าซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในครอบครัวและรับส่งบุตรผู้เยาว์เป็นเงิน 1,700,000 บาท ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแก่จำเลย 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง อ. ให้แบ่งสินสมรสของโจทก์และจำเลยให้ได้ส่วนเท่ากัน โดยให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 47457, 244687, 246434 และ 246435 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 แปลง แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2536 และจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศไทยที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2541 โจทก์กับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กหญิง อ. ผู้เยาว์ เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 อาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ 14/2 ต่อมาปี 2547 โจทก์กับจำเลยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน โจทก์จำเลยต่างแจ้งความเป็นหลักฐานกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายกัน ต่อมากลางปี 2549 โจทก์ขนย้ายของออกแยกไปอยู่ที่อื่น โดยบุตรผู้เยาว์ยังคงอาศัยอยู่กับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีแพ่งจำเลยเพื่อขอใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่ผู้เดียวตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 246/2550 คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้อง และฟ้องเพื่อขอให้ศาลระบุเวลาเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ให้ชัดเจน เพราะถูกจำเลยกีดกัน ในคดีหมายเลขแดงที่ 1806/2551 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิพบและเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ได้ในเวลาที่เหมาะสม วันที่ 20 สิงหาคม 2552 จำเลยมีหนังสือคัดค้านการอนุมัติสัญชาติให้แก่โจทก์ วันที่ 2 มีนาคม 2553 โจทก์แจ้งความว่า จำเลยกักขังหน่วงเหนี่ยวบุตรผู้เยาว์ที่คอนโดมิเนียม จากนั้น โจทก์ได้พาบุตรผู้เยาว์ไปอยู่อาศัยกับโจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาขอให้บุตรผู้เยาว์มาพักอาศัยกับโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ จำเลย และบุตรผู้เยาว์เข้าตรวจสภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องโจทก์โดยให้บุตรผู้เยาว์ไปพักอาศัยอยู่กับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 สำหรับในประเด็นอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ฎีกาในประเด็นนี้ จึงฟังได้ว่า เมื่อการสมรสได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่สมรส ได้แก่ ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกาแล้ว ถือว่าการสมรสสมบูรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกับแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 20 สำหรับเหตุหย่านั้น โจทก์นำสืบได้ว่ากฎหมายแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศแห่งสัญชาติของโจทก์ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นกฎหมายประเทศแห่งสัญชาติของจำเลยยอมให้หย่าได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น เหตุหย่าจึงให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องขอให้ศาลสยามมีคำพิพากษาให้หย่าได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (6) ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของการกระทำของจำเลยแม้จะเกิดจากความไม่พอใจในพฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นสามี และมีความหึงหวง หรือเข้าใจว่าโจทก์ใช้อิทธิพลในการปิดคดีต่าง ๆ แม้ไม่เป็นการหมิ่นประมาทก็ตาม แต่การทำหนังสือคัดค้านเพื่อขอให้ยับยั้งการให้สัญชาติของโจทก์นั้น มิได้เป็นเพียงการร้องขอความเป็นธรรมเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวตนเองหรือให้ผู้บังคับบัญชาโจทก์ตักเตือนความประพฤติแต่อย่างใด ตามที่จำเลยอ้าง และท้ายที่สุดก็ทำให้โจทก์ไม่ได้รับการอนุมัติสัญชาติและนำผู้เยาว์มาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยจำเลยเบิกความรับว่าเป็นผู้ลงชื่อบุตรผู้เยาว์ท้ายหนังสือ โดยอ้างว่าขออนุญาตบุตรผู้เยาว์แล้ว ทั้งที่บุตรผู้เยาว์เบิกความว่า ทราบว่าจำเลยไม่อยากให้โจทก์ได้สัญชาติไทย เคยจะช่วยจำเลย แต่ก็ไม่ได้ช่วย สุดท้ายไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวมาก่อน จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตแก่โจทก์ซึ่งเป็นสามี รวมถึงการแจ้งสถานเอกอัครราชทูตว่า โจทก์ดูแลบุตรผู้เยาว์ไม่ดี มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมกับบุตรผู้เยาว์ จนสถานเอกอัครราชทูตส่งเจ้าหน้าที่ชื่อนาง Sharon มาตรวจสอบความเป็นอยู่ของบุตรผู้เยาว์ แม้จำเลยฎีกาอ้างว่าไม่เคยไปแจ้งสถานเอกอัครราชทูต ให้กระทำการเช่นนั้น จำเลยมีหนทางอื่นที่จะทำได้ เช่น ยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้าง ไม่เคยให้การหรือนำสืบไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งขัดต่อเหตุผลว่า หากจำเลยมิได้ทำ เหตุใดสถานเอกอัครราชทูตจึงส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบความเป็นอยู่ของบุตรผู้เยาว์ เหตุใดเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงต้องทำหนังสือชี้แจงจ่าหน้าซองถึงจำเลย คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้แจ้งให้ตรวจสอบเอง พฤติการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำตามอำเภอใจ ปราศจากความไตร่ตรองถึงความเหมาะสมทั้งที่จำเลยเองก็มีการศึกษาที่ดี ไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าต้องการทำลายทั้งชื่อเสียง ภาพลักษณ์ สถานะ และที่สำคัญคือสิทธิที่โจทก์พึงได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งกระทบต่อความเป็นอยู่ อิสระในการใช้ชีวิต ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร เป็นการคุกคามโจทก์อย่างต่อเนื่องและหลายครั้ง โดยปราศจากความรัก ความปรารถนาดีต่อกันที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปได้ การกระทำของจำเลยเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ถึงขนาดที่ทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุหย่าระหว่างโจทก์จำเลยนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ถึงขนาดทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินสมควร โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าอื่นตามฟ้องดังคำแก้ฎีกาของโจทก์อีกหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 47457, 244687, 246434 และ 246435 เป็นสินสมรสหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประทศไทย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 จำเลยทำสัญญาซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงจากกรมบังคับคดีและทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 โดยตกลงยินยอมให้หักบัญชีเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยทำงานอยู่ โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการซื้อเองตั้งแต่ต้น ได้แก่ ประมูล ทำสัญญา กู้เงิน หักเงินเดือน จำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงอ้างว่า นางอำไพให้เงินก้อนมาไถ่ถอนจำนองตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ไม่ยอมออกจากบ้าน และไม่ชำระค่าใช้จ่ายในบ้านทำให้จำเลยต้องนำเงินมารดาไปใช้จ่ายในบ้านก่อนนั้น ฟังดูเลื่อนลอยว่า เหตุใดจำเลยจึงไม่นำเงินดังกล่าวไปไถ่ถอนจำนองปิดบัญชี กลับนำไปใช้อย่างอื่นก่อน ทั้งที่จำเลยมีรายได้พอจะเสียค่าใช้จ่ายในบ้าน และยอมเสียดอกเบี้ยไปเพื่อเหตุใด อีกทั้งจำเลยเพิ่งมาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงนี้แก่นางอำไพภายหลังโจทก์ฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสในคดีนี้จึงเป็นพิรุธ ทั้งการที่อ้างว่านางอำไพต้องการที่ดินดังกล่าวไปก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าเนื่องจากมีโรงงานอยู่ใกล้ที่ดินนี้ แต่สุดท้ายหลังจากซื้อแล้วนางอำไพก็ไม่ได้ก่อสร้างโกดังแต่อย่างใด โดยจำเลยเบิกความอ้างว่า นางอำไพเพิ่งทราบภายหลังจากไปตรวจสอบที่ดินว่า เป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจึงไม่สร้างโกดังสินค้า ซึ่งขัดต่อเหตุผล ว่าเหตุใดนางอำไพซึ่งมีธุรกิจการค้า มีโรงงานผลิตสินค้าประเภทอะลูมิเนียม มีบัญชีเงินฝากและที่ดินมากมาย จึงไม่ซื้อที่ดินเองและไม่ตรวจสอบที่ดินให้ดีก่อนว่าเป็นที่ดินมีสภาพเช่นไร ต่างจากที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งโจทก์เองก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า เป็นเงินของนางอำไพเป็นผู้ซื้อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวด้วยเงินตนเอง เมื่อที่ดินทั้งสี่แปลงได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 โจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า บัญชีเงินฝากธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เลขที่ 001 43861x xxx และ 001 43861x xxx สาขากรุงเทพ ที่เป็นชื่อบัญชีของโจทก์ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นสินสมรส แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า บัญชีเงินฝากในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 7 บัญชี และบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 1 บัญชีของจำเลย กับบัญชีเงินฝากธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) 1 บัญชีของโจทก์ เป็นสินสมรส และขอแบ่งสินสมรสดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งเฉพาะประเด็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและอำนาจปกครอง ไม่ได้โต้แย้งว่าบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นสินสมรส ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติว่า เงินฝากดังกล่าวซึ่งรวมเงินฝากในธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เป็นสินสมรส ซึ่งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้แบ่งสินสมรสดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่พิพากษาให้แบ่งสินสมรสในส่วนนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์หรือจำเลยสมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” เมื่อความปรากฏว่านางสาว อ. บุตรของโจทก์จำเลย เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 เมื่อนับถึงระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางสาว อ. อายุ 20 ปีเศษแล้ว ซึ่งบรรลุนิติภาวะ และพ้นสภาพแห่งความเป็นผู้เยาว์ และไม่จำต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองของโจทก์จำเลยย่อมหมดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1580 ดังนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่า อำนาจปกครองควรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย ดังที่จำเลยฎีกา ยกฎีกาของจำเลยประการนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์หรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงบรรลุนิติภาวะในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 บัญญัติไว้ว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าทำให้อีกฝ่ายยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ คดีนี้เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังจากการหย่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องและจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ ตามฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่เดือนมีนาคม 2553 แต่ฎีกาของจำเลยกลับขอให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่เดือนสิงหาคม 2549 ย้อนขึ้นไปนับแต่เดือนที่โจทก์ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตามสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงมิได้ขอ ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จำเลยเรียกรวมกันมามีค่าใช้จ่ายในส่วนของบุตรผู้เยาว์รวมมาด้วยหลายรายการ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ จึงไม่จำต้องกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้โจทก์ต้องชำระอีกแล้วนั้น จึงเหลือค่าใช้จ่ายไม่กี่รายการที่ไม่ใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยนั้น ก็ยังปรากฏว่าโจทก์ยังคงจ่ายค่าที่อยู่อาศัยให้จำเลยมาตลอด ในส่วนของค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่รวมของผู้เยาว์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำนวนมากเกินกว่าที่จำเลยจะจ่ายได้ เพราะจำเลยมีกิจการของครอบครัวเดิม มีเงินเก็บ มีรายได้จากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จนเกษียณ เมื่อคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ฐานะของจำเลยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ กรณีจึงเห็นควรไม่กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ชัดแจ้งว่า เงินฝากในธนาคารที่มีชื่อโจทก์จำเลยตามฟ้องรวม 9 บัญชี กับที่ดินมีโฉนด 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 นอกจากนี้ได้ความจากพยานหลักฐานว่า การรับเงินเดือนของโจทก์มีการให้จ่ายเงินในต่างประเทศบางส่วน และมีการโอนเงินจากประเทศไทยไปต่างประเทศ ดังนั้น หากมีสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง แต่จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเข้ามา ก็ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องเรียกร้องขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีใหม่อีกต่างหาก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งสินสมรสคือ บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เลขที่ 101 287 xxx x เลขที่ 101 563 xxx x เลขที่ 101727 xxx x เลขที่ 196 210 xxx x เลขที่ 225 029 xxx x เลขที่ 225 200 xxx x และเลขที่ 198 451 xxx x ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เลขที่ 588 100 xxx x ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี และบัญชีเงินฝากธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เลขที่ 001 43861x xxx และ 001 43861x xxx ที่มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ ให้แก่โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 47457, 244687, 246434 และ 246435 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 แปลง ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยฟ้องแบ่งสินสมรสนอกจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง