คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 78/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นั้นจะต้องปรากฏว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลนั้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันนั้นขัดแย้งกัน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดขัดแย้งกัน แต่เมื่อพิจารณาประเด็นข้อพิพาทในคดีที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่าขัดแย้งกันแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกา ได้แก่ โจทก์หรือผู้ร้องมีสิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ หรือถนนซอยพร้อมจิตรหรือไม่ ส่วนประเด็นข้อพิพาทในคดีปกครองตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ได้แก่ การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยพื้นที่ตั้งโครงการของบริษัทของผู้ร้องทั้งสองติด “ถนนสาธารณะ” ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ.๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ หรือไม่ แม้คดีจะมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลทั้งสองต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกันว่า ถนนซอยพร้อมจิตรหรือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ มีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งว่าโจทก์และผู้ร้องในคดีแพ่งมีสิทธิครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ หรือถนนซอยพร้อมจิตรหรือไม่ และการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีของศาลปกครองว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ร้องและบริษัท พ. โดยมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินติดถนนซอยพร้อมจิตรซึ่งมีสภาพเป็นถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร หรือไม่ แต่ทั้งศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดก็วินิจฉัยตรงกันว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๗๕๙ หรือถนนซอยพร้อมจิตรตกเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยสภาพแห่งการใช้จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยต่อไปตามประเด็นข้อพิพาทในคดีปกครอง โดยตีความข้อกฎหมายคำว่า”ถนนสาธารณะ” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ.๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งศาลในคดีแพ่งมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสภาพความเป็นถนนสาธารณะ เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี ดังนี้คำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลที่เกี่ยวข้องตามคำร้องของผู้ร้องจึงมิได้ขัดแย้งกัน คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามข้อ ๒๘ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ยกคำร้อง

Share