คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายกรณี มาตรา 30 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 38 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนองบประมาณรายจ่าย เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการกิจการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือการจัดทำประชามติมากกว่างบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เพียงพอกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ แต่การนำเงินงบประมาณไปใช้ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มิได้หมายความว่าโจทก์สามารถจะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะแล้วการนำเงินงบประมาณที่ได้จากการจัดสรรมาก็ต้องเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่รัฐอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและส่วนรวม รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้เงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเงินงบประมาณก็คือเงินภาษีของประชาชน ดังนี้ การที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว จำเลยยังมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ผู้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวจะต้องปฏิบัติด้วยความถูกต้องเช่นนั้นทุกคน เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบจนเป็นเหตุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้โจทก์ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องใช้งบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจากการจัดสรรจากรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่ากับโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในหนี้มูลละเมิด โดยโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีความผิด ศาลชั้นต้นย่อมนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมารับฟังประกอบการพิจารณาคดีนี้ได้ เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่เป็นคู่ความและเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินและเอกสารของผู้ที่จะเข้าทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน้าที่สำคัญ จำเลยย่อมรู้ดีว่าหากจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ย่อมมีผลทำให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อจำเลยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่อาจว่างเว้นการเลือกตั้งไว้ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยจงใจโดยจำเลยรู้สึกถึงผลหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยจึงอ้างความผิดหลงหรือเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ และการที่จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วจำเลยกลับมาสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นการสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ จำเลยก็ย่อมจะทราบดีว่าการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวอาจทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งและเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างนับได้ว่าการกระทำของจำเลยล้วนเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายที่ต่อเนื่องกันอันเป็นผลโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 9,295,745.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,742,455.89 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 8,742,455.89 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,742,455.89 บาท นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างจนถึงวันฟ้องรวมระยะเวลา 308 วัน เป็นเงิน 553,289.67 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,295,745.56 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,742,455.89 บาท นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้งขณะยื่นฟ้องมีนายอภิชาต เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายภุชงค์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชนและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด แต่จำเลยไม่ได้ยื่นแสดงรายการหนี้สินเงินกู้ยืมจากนายบรรณพจน์ จำนวน 100,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2551 จำเลยยื่นหนังสือขอแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยแสดงรายการกู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่ได้แสดงรายการหนี้สินกู้ยืมเงินนั้นเพราะความหลงผิดและความเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยสุจริตไม่ได้จงใจปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องหนี้สินดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินที่จำเลยยื่น และพิจารณาผลการตรวจสอบแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ แล้วปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่ง กับห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 263 และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 และกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 ครั้นวันที่ 19 เมษายน 2555 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 และ 263 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 34 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อม.1/2555 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวชินณิชา ผู้คัดค้าน ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ.2555 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ปรากฏว่านายเกษม ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายกรณี มาตรา 30 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 38 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนองบประมาณรายจ่าย เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคำขอแปรบัญญัติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือการจัดทำประชามติมากกว่างบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เพียงพอกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ แต่การนำเงินงบประมาณไปใช้ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มิได้หมายความว่าโจทก์สามารถจะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะแล้วการนำเงินงบประมาณที่ได้จากการจัดสรรมาก็ต้องเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่รัฐอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและส่วนรวม รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้เงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเงินงบประมาณก็คือเงินภาษีของประชาชน ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชนินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีของโจทก์ได้ความว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ.2555 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ไม่ใช่การจัดการเลือกตั้งในกรณีปกติเมื่อครบวาระสี่ปีตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 104 แต่เป็นผลโดยตรงมาจากเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่อาจทราบล่วงหน้าว่าจะต้องจัดการเลือกตั้ง จึงไม่มีการของบประมาณหรือรายการค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวในแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2555 โจทก์จึงต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลโดยเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน 10,243,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้โจทก์มีหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากรัฐบาล และเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงให้นำเงินเหลือจ่ายสะสมของโจทก์มาสำรองจ่ายไปพลางก่อน ตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ 55/2555 โจทก์ได้แจ้งการโอนเงินสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ และมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้โจทก์พิจารณาใช้จ่ายจากเงินรายได้ของโจทก์ โดยปรับแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจัดสรรจากรัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้โจทก์ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โจทก์จึงต้องปรับแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีอยู่ของโจทก์โดยปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณในด้านอื่นลงเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเหตุให้ต้องชะลอการก่อสร้างอาคารสำนักงานของโจทก์ ตลอดจนต้องชะลอการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ของโจทก์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ออกไป ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของโจทก์ตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้ หากจำเลยไม่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว โจทก์ก็ไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการอื่นให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของโจทก์ตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้ได้ และเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นงบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจากการจัดสรรจากรัฐบาลถือเป็นรายได้ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 38 และ 39 (1) ดังนี้ การที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว จำเลยยังมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ผู้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวจะต้องปฏิบัติด้วยความถูกต้องเช่นนั้นทุกคน เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบจนเป็นเหตุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่แทนตำแหน่งของจำเลย โดยต้องใช้งบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจากการจัดสรรจากรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เท่ากับโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในหนี้มูลละเมิด โดยโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการหนี้สินเงินกู้ยืมจากนายบรรณพจน์จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยได้ปรึกษากับนายสมชายบิดาจำเลยมาก่อน แสดงว่าจำเลยรู้ถึงความมีอยู่ในเรื่องหนี้สินจำนวนดังกล่าว แม้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จะมีมติว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมจริง ไม่ได้เป็นหนี้จริงดังที่จำเลยอ้าง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยยืนยันว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินจากนายบรรณพจน์ เพื่อทำธุรกิจโดยเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมายโดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 01/2550 ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2550 เพื่อเป็นหลักฐานในการปฏิบัติการชำระหนี้คืน และการกู้ยืมเงินมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามคำเบิกความของนายศราวุธซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พยานจำเลยได้ความว่า ในทางปฏิบัติหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลงลืมในการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือว่ายังแสดงบัญชีทรัพย์สินไม่หมด ก็สามารถยื่นเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะตรวจสอบว่ามีเจตนาในการไม่ยื่นเพราะอะไร ซึ่งจำเลยเองก็มิได้มาเบิกความยืนยันถึงเจตนาแท้จริงของจำเลยในเรื่องนี้ ลำพังแต่เพียงความเห็นของนายสมชายจึงไม่ใช่ข้อยืนยันว่าจำเลยไม่มีเจตนาปกปิดหนี้สินดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นข้อเท็จจริงยังได้ความว่า เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 และ 263 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 34 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อม.1/2555 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวชินณิชา ผู้คัดค้าน เมื่อคดีดังกล่าวรับฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาข้างต้นมารับฟังประกอบการพิจารณาคดีนี้ได้ เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่เป็นคู่ความและเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่ไม่ได้ระบุหนี้เงินกู้ยืมเพราะมีสถานะทางกฎหมายไม่แน่นอนเพราะมีกรณีพิพาทที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวน 100,000,000 บาท ที่โอนมาจากบัญชีเงินฝากของนายบรรณพจน์โดยสงสัยว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการขายหลักทรัพย์ของพันตำรวจโททักษิณมิใช่หนี้การกู้ยืมเงินกันจริง จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ทั้งเห็นว่าการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินและเอกสารของผู้ที่จะเข้าทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่สำคัญ จำเลยย่อมรู้ดีว่าหากจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ย่อมมีผลทำให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อจำเลยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่อาจว่างเว้นการเลือกตั้งไว้ได้ การกระทำของจำเลยดังที่กล่าวมาจึงเป็นการกระทำโดยจงใจโดยจำเลยรู้สึกถึงผลหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยจึงอ้างความผิดหลงหรือเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ และการที่จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วจำเลยกลับมาสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นการสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ จำเลยก็ย่อมจะทราบดีว่าการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวอาจทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งและเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง นับได้ว่าการกระทำของจำเลยล้วนเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายที่ต่อเนื่องกันอันเป็นผลโดยตรง ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ในข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกชนินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีของโจทก์มาเบิกความเป็นพยานยืนยันรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ส่วนกลางจำนวน 456,749.99 บาท ค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการจำนวน 1,325,689.28 บาท รวมเป็นเงิน 1,782,439.27 บาท และค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 6,960,016.62 บาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นจำนวน 8,742,455.89 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเงินงบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลถือเป็นรายได้ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 38 และ 39 (1) การจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างไม่ใช่การเลือกตั้งปกติ โจทก์ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้โจทก์ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทำให้โจทก์ต้องปรับลดงบประมาณในส่วนอื่นลงเพื่อนำเงินมาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกประการ ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งของหน่วยงานสนับสนุนประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือ กรมการปกครอง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่วนค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายที่เป็นจริงและเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไม่ซ้ำซ้อนกัน และค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว และโจทก์มีนางดวงกมล พนักงานการเงินและบัญชี สำนักการคลังของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบบันทึกบัญชี ตรวจสอบหลักฐานการเบิกจ่ายและจัดเก็บเอกสารการรับจ่ายเงินของโจทก์ในส่วนกลาง นางสาวกัญญ์วดี เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณของกรมการปกครอง พันตำรวจโทหญิงจิโรศินี สารวัตรฝ่ายการเงิน 3 กองการเงิน สำนักงานงบประมาณและการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานเงินนอกงบประมาณและเงินรายได้แผ่นดิน ร้อยตำรวจเอกหญิงนงนุช รองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ งานงบประมาณและการเงินตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมและเบิกจ่ายของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจโทหญิงมยุรี สารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองปราบปราม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเงินงบประมาณและบัญชีของกองบังคับการปราบปราม นางวนิตย์ พนักงานการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนของโจทก์ มีหน้าที่จัดทำแผนใช้จ่ายงบประมาณ จัดทำคำของบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งจัดทำกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายให้โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุน อีกทั้งโจทก์ยังมีนางสาวอุไร นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานการเงินและบัญชี สำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินของสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 3 นางวรมน เจ้าหน้าที่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการระบบโทรศัพท์และโทรสาร นายสุทัน ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกแผนกปฏิบัติการและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมดูแล ประสานงานในการติดตั้งรื้อถอนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นายมนตรี หัวหน้าส่วนระดับ 9 ส่วนบริการลูกค้าพิเศษฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีหน้าที่ศึกษา พัฒนา วางแผน จัดระบบการให้บริการไปรษณีย์โลจิสติก และวางแผนกำหนดวิธีปฏิบัติในการดำเนินงานตามโครงการหรือกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ และนายยอด พนักงานการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่รับผิดชอบในการเบิกจ่ายตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุน แจกแจง แยกแยะรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ละส่วนงานในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้รับฟังข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างอื่น ทั้งจำเลยมิได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงรายการค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจำนวนตามที่โจทก์นำสืบมาจริง ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่อัตราสูงเกินสมควรก็ดี หรือหลายรายการไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น จำเลยก็ไม่ได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าเป็นรายการใดบ้าง ที่จำเลยอ้างว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้งเดียวกัน จำเลยก็ไม่ได้แสดงว่ามีจำนวนสูงกว่าเพียงใด แต่กลับได้ความจากที่ร้อยตำรวจเอกชนินทร์พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมมีจำนวนสูงกว่าการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อได้ความว่า ในการที่โจทก์จัดการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 8,742,455.89 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่ควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยในฐานะผู้ทำละเมิดให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาปลีกย่อยอื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงได้ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share