คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นชื่อโจทก์พร้อมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนและรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากไม่ส่งมอบรถยนต์คืนให้จำเลยชดใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน 530,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ 85,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าขาดประโยชน์อัตราวันละ 800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนชำระค่าปรับ 17,019.33 บาท กับค่าปรับอัตราวันละ 151.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืน และชำระค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าบอกกล่าวทวงถาม 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน ทร 3675 กรุงเทพมหานคร ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี พร้อมทั้งจดทะเบียนเป็นชื่อโจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 180,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 10,700 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ธันวาคม 2553)จนกว่าจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมา 9,913 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอัลติส/เจ หมายเลขทะเบียน ทร 3675 กรุงเทพมหานคร จากจำเลย ในราคาเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 330,750 บาทตกลงแบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 15,750 บาท รวม 21 งวดกำหนดชำระภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 ธันวาคม 2551 ตามสัญญาเช่าซื้อ หลังเช่าซื้อรถยนต์ไปแล้ว โจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ถึงเดือนเมษายน 2553 ซึ่งเป็นค่าเช่าซื้องวดที่ 15 ถึงงวดที่ 17 จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 27 เมษายน 2553 ไปยังโจทก์และผู้ค้ำประกันแจ้งให้ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด เป็นเงิน 47,250 บาท ค่าทนายความรวมค่าดอกเบี้ยล่าช้า 3,553 บาท ค่ามิเตอร์และค่าปรับ 1,300 บาท ค่าวิทยุ 2,058 บาท รวมเป็นเงิน 54,161 บาท และระบุว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระค่างวดเพิ่มอีก 1 งวด เป็นเงิน 15,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 69,911 บาท ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากเพิกเฉยหรือชำระเพียงบางส่วน หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญา จำเลยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ของโจทก์และมีผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 หลังจากนั้นโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 จำนวน 15,750 บาท วันที่ 21 พฤษภาคม 2553 จำนวน 16,440 บาท และวันที่ 3 มิถุนายน 2553จำนวน 15,750 บาท ตามใบรับเงินชั่วคราวและใบรับชำระของธนาคาร ต่อมาโจทก์ชำระเงินครั้งละ 15,750 บาท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 วันที่ 2 สิงหาคม 2553 วันที่ 15 สิงหาคม 2553 และวันที่ 2 กันยายน 2553 ตามใบรับชำระของธนาคาร พนักงานของจำเลยไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 และจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2553 แจ้งให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่าซื้อและให้มาใช้สิทธิซื้อรถยนต์คืน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามหนังสือบอกกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 27 เมษายน 2553 ไปยังโจทก์และผู้ค้ำประกันแจ้งให้ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด เป็นเงิน 47,250 บาท และชำระหนี้รายการอื่น ๆ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากเพิกเฉยหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้น จำเลยได้บอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามข้อ 15 ของสัญญาที่ระบุว่า… ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวด ติด ๆ กัน (ทางบัญชี) และเจ้าของมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับ หรือถือว่าได้รับหนังสือโดยชอบ และผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ ค่าเบี้ยประกันภัย (ถ้ามี) ค่าใช้จ่าย หรือเงินอื่นใดทุกจำนวน และจะต้องชำระให้ครบถ้วน ทันงวด ภายในกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทั้งหมด หากผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น หรือชำระเพียงบางส่วน หรือชำระไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ผู้เช่าซื้อตกลงให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันยกเลิกกันนับถัดจากวันที่ครบกำหนดให้ชำระตามหนังสือบอกกล่าวนั้น… หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวด ซึ่งเป็นหนี้ส่วนสำคัญแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือ ค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ ซึ่งตามหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลย ลงวันที่ 7 กันยายน 2553 โจทก์ก็ยอมรับในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังที่อยู่ของโจทก์โดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่จำเลยทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่ปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ตามใบรับเงินชั่วคราวและใบรับชำระของธนาคาร เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยกระทำโดยชอบแล้ว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระค่างวดเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ก็ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่จำเลยยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าดังที่โจทก์อ้างในฎีกาประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ตามใบเสร็จรับเงินรวม 4 ฉบับ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่า จำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่า จำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป จำเลยจึงดำเนินการตามขั้นตอนภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยมีการติดตามยึดรถยนต์คืน เมื่อได้รับรถยนต์กลับคืนมาแล้ว จำเลยก็มีหนังสือ แจ้งให้โจทก์มาชำระหนี้และใช้สิทธิซื้อรถยนต์คืน ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยได้มีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่า การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ และในการติดตามรถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่นายปัญญา ตามสำเนาสัญญาเช่าซื้อที่แนบไปกับหนังสือดังกล่าว โจทก์หาได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนในกรณีนี้ นับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา อีกทั้งก็เป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย จำเลยมิได้รับชำระเงินจากโจทก์เป็นค่าเช่าซื้อแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว เช่นนี้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยยึดรถยนต์คืนโดยไม่มีอำนาจเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อและเรียกให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share