คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13888/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนและคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือเรื่องที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานหลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบกำหนดแล้ว โดยอ้างว่าโจทก์มีความประพฤติ ความรู้และความสามารถไม่เหมาะสม เพียงแต่ค่าเสียหายที่เรียกร้องในแต่ละคดีโจทก์กล่าวเรียกชื่อต่างกัน ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถเรียกร้องได้ในคดีก่อนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากที่คดีก่อนถึงที่สุดแล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้บังคับจำเลยคืนทรัพย์เป็นเงิน 1,399,999,999.99 บาท ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมสูงสุดให้ศาลแทนโจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จากข้อเท็จจริงจำนวนทรัพย์ที่โจทก์ทวงคืนไม่เกิน 5 ปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งว่า เมื่อประมาณปี 2519 โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด 1 ที่วิทยาลัยการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลย ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการอ้างว่าโจทก์ทดลองปฏิบัติราชการครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าความประพฤติ ความรู้และความสามารถไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติราชการ โดยการกล่าวอ้างไม่ได้อาศัยหลักเกณฑ์และไม่มีระเบียบกฎหมายใด ๆ รองรับเป็นการกระทำที่มีเจตนาละเมิดต่อโจทก์ หลังจากออกจากราชการโจทก์สามารถสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด 1 และเข้ารับราชการที่กรมศิลปากร ย่อมแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และสามารถปฏิบัติงานได้ ฉะนั้นที่จำเลยให้โจทก์ออกจากราชการจึงทำให้โจทก์เสียหายเสียโอกาสที่จะรับราชการและมีความก้าวหน้าต่อไปนับแต่วันที่โจทก์ถูกออกจากราชการถึงอายุ 60 ปี โจทก์สามารถได้รับเงินเดือนก้าวหน้ามีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คำนวนเป็นเงินได้ทั้งสิ้น 142,743,418 บาท จึงขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 142,824,318 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ซึ่งคดีดังกล่าวปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้ว ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6711/2554 และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 24 มกราคม 2555 ดังนั้นเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องในวันที่ 23 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่คดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โดยโจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด 1 ที่วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง หลังจากทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบ 7 เดือน จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการเพราะมีความประพฤติ ความรู้ ความสามารถไม่เหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2519 โดยไม่มีการสอบสวนวินัยหรือมีคำสั่งลงโทษทางวินัยใด ๆ ทั้งสิ้น แสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีความประพฤติผิดวินัย โจทก์จึงใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยอันหมายถึงความเหมาะสมของโจทก์ตามหลักนิติธรรม ขอบังคับให้จำเลยคืนทรัพย์เป็นเงิน 1,399,999,999.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการฟ้องที่อาศัยเหตุอันเดียวกันคือ เรื่องที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานหลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบกำหนดแล้ว โดยอ้างว่าโจทก์มีความประพฤติ ความรู้และความสามารถไม่เหมาะสม เพียงแต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องในแต่ละคดีโจทก์กล่าวเรียกชื่อต่างกัน ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถกล่าวเรียกร้องได้ในคดีก่อนแล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 247 และกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share