แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ อันมีความหมายอยู่ในตัวว่าก่อนที่โจทก์หรือจำเลยจะนำพยานปากใดที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา คู่ความสามารถตกลงกันได้ว่าไม่จำต้องให้พยานปากดังกล่าวต้องเบิกความซ้ำในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ และศาลจะต้องจดบันทึกข้อตกลงของคู่ความนี้ไว้ให้แจ้งชัดในรายงานกระบวนพิจารณา สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันสืบพยานโจทก์ว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายที่มาศาลได้ตกลงกันให้นำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267, 268 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1620/2551 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 เป็นความผิด 2 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คำขออื่นและข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และ 268 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ศาลสามารถนำคำเบิกความของนายโหในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่คู่ความตกลงกันศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ อันมีความหมายอยู่ในตัวว่าก่อนที่โจทก์หรือจำเลยจะนำพยานปากใดที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา คู่ความสามารถตกลงกันได้ว่าไม่จำต้องให้พยานปากดังกล่าวต้องเบิกความซ้ำในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ และศาลจะต้องจดบันทึกข้อตกลงของคู่ความนี้ไว้ให้แจ้งชัดในรายงานกระบวนพิจารณา และที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้แถลงขออนุญาตให้นำคำเบิกความของนายโหในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาและศาลได้ถามทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้นำคำเบิกความของนายโหในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา แล้วให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ (นายโห) เบิกความเพิ่มเติมจากคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น เมื่อตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่า ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณามีข้อความว่าโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจบ 2 ปาก แล้วแถลงหมดพยาน ไม่ปรากฏข้อความว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ (นายโห) ทนายโจทก์ จำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความทั้งสองฝ่ายที่มาศาลได้แถลงว่าตกลงกันให้นำเบิกความของนายโหในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายโจทก์ จำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยินยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณารับรองการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นชอบแล้ว ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของนายโหในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน