คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11096/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด การขาย และลูกค้าสัมพันธ์ ในเวลาเดียวกันโจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท อ. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันและมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 บริษัท อ. ย่อมต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งเสริมการค้าขายของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์กระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 (ค่าผ่อนบ้านและที่ดินกับค่าเช่าซื้อรถ) ไม่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้าน จึงไม่มีปัญหาว่าคดีในส่วนนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ การที่โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหาย 11,080,000 บาท ค่าจ้าง 240,000 บาท ค่าชดเชย 720,000 บาท ให้แก่โจทก์ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้หักเงินเดือนเดือนละ 19,100 บาท เป็นค่าผ่อนชำระบ้านและที่ดินคืนแก่โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ที่โจทก์มอบหมาย ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงิน 10 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่จำเลยที่ 1 นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันโดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ 128,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีนายโรล์ฟ บิดาโจทก์ถือหุ้นจำนวน 49 เปอร์เซ็นต์ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด การขาย และลูกค้าสัมพันธ์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 120,000 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว การทำงานกับจำเลยที่ 1 ต้องมีใบอนุญาตการทำงาน ใบอนุญาตการทำงานของโจทก์หมดอายุและโจทก์จะต้องขอใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยซึ่งครบกำหนดตรงกับใบอนุญาตการทำงาน บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลฟรุ๊ท (บีเคเค) จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายโรล์ฟ บิดาโจทก์และโจทก์เป็นกรรมการร่วมกับกรรมการอื่นอีก 2 คน กรรมการ 2 ใน 4 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทน บริษัทประกอบกิจการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการเลิกจ้างต่อโจทก์ โดยระบุว่าโจทก์เอาเวลาของจำเลยที่ 1 ไปก่อตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลฟรุ๊ท (บีเคเค) จำกัด โดยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจผู้หนึ่ง ประกอบธุรกรรมอันเป็นธุรกิจอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 เป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 นำเอาข้อมูลของจำเลยที่ 1 หาประโยชน์ให้โจทก์และบริษัทคู่แข่งอื่นเป็นการผิดระเบียบอย่างร้ายแรงและจงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย และใช้ชื่อบริษัทประกอบธุรกรรมอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นการละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า การต่อใบอนุญาตการทำงานของโจทก์เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องดำเนินการให้แก่โจทก์ พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 ไม่ต่อใบอนุญาตการทำงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 3 กรกฏาคม 2548 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดต่อใบอนุญาตการทำงานของโจทก์ ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2548 โจทก์ผิดสัญญาจ้างโดยประกอบกิจการลักษณะเดียวกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 โจทก์และบิดาโจทก์ย่อมจะไม่ส่งเสริมการค้าของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป โดยจะต้องส่งเสริมบริษัทที่โจทก์และบิดาโจทก์ร่วมกันจัดตั้งขึ้น การกระทำของโจทก์ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อฟังว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว ถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนการตกลงกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ให้จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดินแทนโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้น มิใช่เรื่องเกี่ยวกับสัญญาจ้างหรือเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อเรียกร้องต่อศาลแรงงานกลาง แม้การกระทำของโจทก์จะเป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เสียโอกาสในด้านการค้าและลูกค้าหลงเข้าใจผิดไปสั่งซื้อสินค้าบริษัทที่โจทก์เป็นกรรมการหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงไม่คำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยที่ 1
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อห้ามทำงานหรือประกอบกิจการอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลในด้านการตลาดการขาย และลูกค้าสัมพันธ์ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลฟรุ๊ท (บีเคเค) จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขัน กับจำเลยที่ 1 ซึ่งบริษัทย่อมต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมกระทบต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 และทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แม้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 และสัญญาว่าจ้างจะไม่ระบุห้ามโจทก์กระทำการดังกล่าว แต่การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งเสริมการค้าขายของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) และการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ทั้งการเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรและเป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินแก่โจทก์ต่อศาลแรงงานกลางได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงในสัญญาจ้างว่าโจทก์จะได้รับค่าจ้างจำนวน 120,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จ่ายเงินเดือนให้โจทก์เพียง 80,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 นำไปผ่อนชำระค่าบ้านและที่ดินกับรถยนต์ของโจทก์ บ้านและที่ดินกับรถยนต์จึงเป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแรงงานกลางนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 หักค่าจ้างโจทก์ผ่อนชำระค่าบ้านและที่ดินที่โจทก์ซื้อไว้โดยจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดินแทนโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อบ้านและที่ดิน เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การว่ากรณีค่าผ่อนบ้านและที่ดินกับค่าเช่าซื้อรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงานกลาง แต่ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้คัดค้าน จึงไม่มีปัญหาว่าคดีในส่วนนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ การที่โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share