แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง คือ การนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร จำเลยนำแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะของกลาง ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกจำหน่ายโดยวางแผงขายให้แก่ประชาชนทั่วไป แม้จำเลยจะยังไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนคนหนึ่งคนใดก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 25, 38, 47, 54, 78, 79, 81, 82, 92 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง, 38 วรรคหนึ่ง, 47 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 78, 79, 81, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 200,000 บาท ฐานนำออกจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานนำออกจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 200,000 บาท รวมปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏชัดซึ่งชื่อเรื่องภาพยนตร์ชื่อบทเพลง หรือชื่อเรื่องของวีดิทัศน์ และไม่ได้บรรยายฟ้องเนื้อหาของภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ให้เห็นว่าเรื่องใดเพลงใดยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและอนุญาตจากคณะกรรมการนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยนำแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) วางแผงขายให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากการซื้อภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากลูกค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยมีไว้ซึ่งแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) ดังกล่าว ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกจำหน่ายในราชอาณาจักร ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง, 38 วรรคหนึ่ง, 47 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่งแล้ว ส่วนชื่อเรื่องภาพยนตร์ ชื่อบทเพลง หรือชื่อเรื่องของวีดิทัศน์ และเนื้อหาของภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์เรื่องใดเพลงใดยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและอนุญาตจากคณะกรรมการนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานนำออกจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดสำเร็จหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานดังกล่าวจะเป็นความผิดสำเร็จต้องปรากฏว่าจำเลยได้จำหน่ายหรือขายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ให้แก่ผู้อื่นแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์” และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “วีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์” ดังนี้ องค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวคือการนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยนำแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) ของกลาง ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกจำหน่ายโดยวางแผงขายให้แก่ประชาชนทั่วไป แม้จำเลยจะยังไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนคนหนึ่งคนใดก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองริบแผงเหล็กและโต๊ะพับของกลางชอบหรือไม่ และสมควรมีคำสั่งให้คืนแผ่นเอ็มพีสามแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) แผงเหล็กและโต๊ะพับของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยทำหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และให้คืนแก่เจ้าของ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) ของกลางก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยขอให้คืนแผ่นเอ็มพีสามแก่จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยึดแผ่นซีดีเพลง (เอ็มพีสาม) ไว้ด้วย แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ขอให้ริบของกลางดังกล่าว และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 85 วรรคสาม บัญญัติว่า “สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น” ดังนี้ เมื่อคดีถึงที่สุด พนักงานสอบสวนต้องคืนแผ่นซีดีเพลง (เอ็มพีสาม) แก่จำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องสั่งให้คืนแผ่นซีดีเพลง (เอ็มพีสาม) แก่จำเลยอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 200,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 100,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังมีกำหนด 1 ปี ให้คืนแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ (ภาพยนตร์) แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะ (วีดิทัศน์) แผงเหล็ก และโต๊ะพับ ของกลาง แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4