คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13955/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ค. ในการขายรถยนต์พิพาท โจทก์ก็นำสืบเรื่องดังกล่าวได้เพราะเป็นการสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้
ข้อความในสัญญาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้ยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งแสดงให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ต่อกรมการขนส่งทางบก และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกระทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ พร้อมทั้งส่งมอบสมุดคู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่กระทำการหรือกระทำการไม่ได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 270,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งส่งมอบสมุดคู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว หากไม่กระทำการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้แก่จำเลยที่ 2 หากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ให้โจทก์ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 170,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนายวสันต์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานนำรถยนต์พิพาทมาขายให้นายคมกฤตโดยส่งมอบรถยนต์พิพาทและคู่มือจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารการโอนทางทะเบียนซึ่งนางณัฐธิดาลงลายมือชื่อช่องผู้โอนมอบให้นายคมกฤต โดยมีสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทลงวันที่ 30 สิงหาคม 2547 ระบุชื่อนายคมกฤตเป็นผู้ซื้อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่านางณัฐธิดาขายรถยนต์พิพาทให้นายคมกฤต ดังนั้น นายคมกฤตจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้โจทก์เบิกความยืนยันว่าในวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นร้านขายรถมือสองของนายคมกฤต และนายคมกฤตเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินค่าซื้อรถยนต์พิพาทด้วยตนเอง หลังจากโจทก์ชำระราคารถยนต์พิพาทครบถ้วนแล้ว โจทก์ได้ติดตามให้นายคมกฤตโอนทางทะเบียนเป็นชื่อโจทก์ตลอดมา โดยโจทก์มีนางสาวนภาภรณ์ ภริยานายคมกฤตเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์เคยโทรศัพท์แจ้งต่อพยานว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์จากนายคมกฤตและติดตามให้นายคมกฤตจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ และพยานเคยสอบถามนายคมกฤตแล้ว นายคมกฤตแจ้งว่ากำลังตามหาเอกสารชุดโอนทางทะเบียนอยู่ แต่ปัจจุบันนายคมกฤตเสียชีวิตแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยในวันที่ 3 กันยายน 2547 นายธมนันท์หรือปราโมทย์กู้เงินจากจำเลยที่ 2 และได้นำคู่มือจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารการโอนทางทะเบียนจำนำเป็นประกันเงินกู้ไว้กับจำเลยที่ 2 ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2548 นายปราโมทย์ไม่ชำระหนี้เงินกู้จึงนำรถยนต์พิพาทตีใช้หนี้เงินกู้โดยนางณัฐธิดาเจ้าของรถยนต์ยินยอมนั้น จำเลยที่ 2 มีเพียงนางสาวกนกพร และนางสาวรุ่งรวี กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า นายปราโมทย์นำคู่มือจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารการโอนทางทะเบียนมอบให้จำเลยที่ 2 ยึดไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ในวันที่ 3 กันยายน 2547 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำนายปราโมทย์มาเบิกความยืนยันว่าได้ซื้อรถยนต์พิพาทหรือได้รับความยินยอมจากนายคมกฤตอันแสดงถึงสิทธิที่จะนำรถยนต์พิพาทไปตีใช้หนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า รถยนต์พิพาทจอดในร้านขายรถมือสองของนายคมกฤตเพื่อขายต่อหลายเดือนแล้วและโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากร้านขายรถมือสองของนายคมกฤต ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่านายปราโมทย์นำรถยนต์พิพาทตีใช้หนี้เงินกู้แล้วก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทนั้น จำเลยที่ 2 มีเพียงนางสาวกนกพรและนางสาวรุ่งระวีเบิกความลอย ๆ ว่า นายปราโมทย์นำรถยนต์พิพาทตีใช้หนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการด้านการเงินแต่กลับได้ความว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนแปลงชื่อในคู่มือจดทะเบียนรถมาเป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า นายปราโมทย์ยินยอมให้นำรถยนต์พิพาทมาตีใช้หนี้จำเลยที่ 2 แล้วถึง 1 ปีเศษ และเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายคมกฤตแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายคมกฤตในวันที่โจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับนายคมกฤต แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนายคมกฤตในการขายรถพิพาท โจทก์ก็นำสืบเรื่องดังกล่าวได้เพราะเป็นการสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้ และตามสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท ระบุว่าโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทราคา 270,000 บาท วางเงินมัดจำไว้ 5,000 บาท ค้างชำระเป็นเงิน 265,000 บาท นำมาชำระในวันที่ 15 กันยายน 2548 หากผู้ซื้อไม่นำเงินมาชำระให้ตามกำหนด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำทั้งหมด และยินยอมส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ขายหรือตัวแทนในทันที เห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อในรถยนต์พิพาทให้โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าว เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน 7ษ – 4787 กรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 6,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share