คำวินิจฉัยที่ 53/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๓/๒๕๕๕

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลจังหวัดนครปฐม
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครปฐมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓ นายณรงค์ อรพินทร์ โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทคิมโปวิลลาร์ จำกัด ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายวิชัย บุญธรรมชนะรุ่ง ที่ ๓ นายมนชัยหรือมนะ วชิรปาณี ที่ ๔ นายสุพาสน์ วิเศษมณี ที่ ๕ นายธนู บุญเลิศ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครปฐม เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๒/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๕๘๔๖ ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ดิน ๑ งาน ๖๙ ตารางวา จากจำเลยที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๖๕๖,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ โจทก์กับพวกติดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม เพื่อจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งตกลงซื้อขายกันเป็นเงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวถูกอายัดไว้ โจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ ๖ ได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ โดยให้เหตุผลว่า “ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินที่กันไว้เป็นสวนสาธารณะ ห้ามทำนิติกรรมใดๆ ให้ปรึกษาก่อน(นายธนู บุญเลิศ)” นอกจากนี้ ส่วนบนของโฉนดที่ดินเหนือตราครุฑและส่วนบนของสารบัญจดทะเบียนหน้า ๒ มีข้อความเขียนว่า “สวนสาธารณะ” ซึ่งแตกต่างกับโฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนที่ดินฉบับของโจทก์ และในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ ในสารบัญจดทะเบียนหน้า ๒ ของโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดิน มีการขูดลบบริเวณข้อความ “ที่ดินแปลงนี้อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดิน” โดยมีจำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับไว้ และมีจำเลยที่ ๕ ลงลายมือชื่อและประทับตราการจดทะเบียนขายที่ดิน ซึ่งแตกต่างจากโฉนดที่ดินฉบับของโจทก์ที่ไม่มีการขูดลบใดๆ ทั้งที่มีข้อความเดียวกันและจำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับไว้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๔ ได้ลงลายมือชื่อในการสอบสวนและประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีอากรการจดทะเบียนขายที่ดิน และจำเลยที่ ๕ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ลงลายมือชื่อในบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินและลงลายมือชื่อในสารบัญจดทะเบียนและประทับตราในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินที่รับจดทะเบียนขาย จากการตรวจสอบโจทก์เชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ได้กันที่ดินแปลงดังกล่าวไว้เป็นสวนสาธารณะ เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายให้แก่โจทก์ได้ การที่จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่สุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสภาพของที่ดินและยังร่วมกันหลอกลวงโจทก์ในการจดทะเบียนซื้อขาย และมีจำเลยที่ ๖ สั่งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ด้วย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๒,๕๒๘,๙๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๖๕๖,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ส่วนจำเลยที่ ๑ โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทร้างแล้ว ความเป็นนิติบุคคลย่อมสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้การโดยสรุปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ กระทำเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ อันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งห้ามโอนที่ดินที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภค แม้การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดการจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็มิได้ห้ามมิให้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภค การซื้อขายและจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ ๓ ในข้อความสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินฉบับของสำนักงานที่ดินแม้จะมีร่องรอยการแก้ไข แต่ก็มีข้อความถูกต้องตรงกับโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดิน และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การจดแจ้งในโฉนดที่ดิน การทำสัญญาซื้อขาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดสรร ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ ข้อ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ จึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการที่จำเลยที่ ๖ ได้กระทำการตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๔ (๑) ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ทำนิติกรรมกับบุคคลใด อันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินที่ใช้เพื่อการสาธารณะ จำเลยที่ ๖ จึงมีอำนาจอายัดที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการโดยสุจริต ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ จึงไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงไม่มีความรับผิดอย่างใดต่อโจทก์ด้วย นอกจากนี้การที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมิได้ดูสภาพที่ดินก่อนซื้อ หากโจทก์จะต้องเสียหายอันเนื่องมาจากการซื้อที่ดินโดยไม่ระมัดระวัง ความเสียหายดังกล่าวก็มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดชอบที่จะเรียกร้องกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ไม่อาจเรียกร้องเอากับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ออกจาก
สารบบความ เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลจังหวัดนครปฐมพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติจำกัดประเภทคดีปกครองที่
เกิดจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้ร่วมรับผิดในมูลเหตุละเมิดที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ ในการรับจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขาย ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารที่มีการขูดลบข้อความ และออกคำสั่งอายัดที่ดิน ซึ่งกระทำโดยไม่สุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อหลอกลวงโจทก์ให้จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม สังกัดระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จำเลยที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม กรมที่ดิน และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ ดำเนินการเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๘๔๖ โดยไม่สุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปกปิดความจริงของสภาพที่ดินแปลงพิพาทร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๕ ลงลายมือชื่อและประทับตรา การจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินซึ่งมีการขูดลบบริเวณข้อความซึ่งแตกต่างกับโฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนฉบับของโจทก์ที่ไม่มีการขูดลบใดๆ ทั้งที่มีข้อความเดียวกัน และจำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับข้อความการจดแจ้งการจัดสรรที่ดินไว้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในการสอบสวนและประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีอากรในการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ และจำเลยที่ ๕ ลงลายมือชื่อในบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินร่วมด้วย อันเป็นการร่วมกับจำเลยที่ ๑ หลอกลวงโจทก์ในการจดทะเบียนซื้อขาย ต่อมาโจทก์จะขายที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ เนื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม โดยจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดจำเลยที่ ๒ ได้จดแจ้งการอายัดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ว่าเป็นที่ดินที่กันไว้เป็นสาธารณะ อันเป็นผลทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวได้ และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายในราคาที่ดินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ ๑ ในวันจดทะเบียนซื้อขาย รวมทั้งกำไรจากการขายที่ดินพิพาทพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ที่ต้องดำเนินการสอบสวนคู่กรณีและตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่คู่กรณียื่นประกอบคำขออันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ และมาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอาศัยโอกาสที่ตนได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจดทะเบียนขายที่ดินที่กันไว้เป็นสาธารณะ ซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และต้องห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามข้อ ๓๐ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ และกล่าวหาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่รับจดทะเบียนขายที่ดินตามคำขอของโจทก์ตามข้อมูลที่จำเลยที่ ๖ ได้จดแจ้งเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เพื่อมิให้มีการทำนิติกรรมใดๆ อันจะก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะสำหรับที่ดินจัดสรร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นการออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทบสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองสามารถออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินมีโฉนดที่ดินมาจากจำเลยที่ ๑ แต่ต่อมาไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๖ ได้มีคำสั่งอายัดที่ดิน และในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ จำเลยที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อกำกับข้อความ “ที่ดินแปลงนี้อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดิน” ในโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินบริเวณที่มีการขูดลบข้อความ จำเลยที่ ๔ ได้ลงลายมือชื่อในการสอบสวนและประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีอากรการจดทะเบียนขายที่ดิน และจำเลยที่ ๕ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ลงลายมือชื่อในบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินและลงลายมือชื่อในสารบัญจดทะเบียนและประทับตราในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินที่รับจดทะเบียนขาย ซึ่งโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ กระทำการโดยไม่สุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสภาพของที่ดินและยังร่วมกันหลอกลวงโจทก์ การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ด้วย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้การโดยสรุปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการโดยสุจริต ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงไม่มีความรับผิดอย่างใดต่อโจทก์ด้วย โจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมิได้ตรวจสอบสภาพที่ดินก่อนซื้อ ความเสียหายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ไม่อาจเรียกร้องเอากับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เมื่อพิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลวินิจฉัยความเสียหายจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งโจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๖ มีคำสั่งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าว อันเป็นคำสั่งทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายณรงค์ อรพินทร์ โจทก์ บริษัทคิมโปวิลลาร์ จำกัด ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายวิชัย บุญธรรมชนะรุ่ง ที่ ๓ นายมนชัยหรือมนะ วชิรปาณี ที่ ๔ นายสุพาสน์ วิเศษมณี ที่ ๕ นายธนู บุญเลิศ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

สำเนาถูกต้อง
(นางวลัยมาศ คุปต์กาญจนากุล) คมศิลล์ คัด/ทาน
นิติกรชำนาญการ

Share