แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ อันเป็นการบริหารงานภายในของวิทยาลัยการปกครองมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่หากจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 วินิจฉัยสั่งการ จะต้องทำเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยชอบแล้ว แม้การมอบหมายจะกระทำด้วยวาจาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม แม้จะมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยหน้าที่ควบคุมของตน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาท โดยไม่จัดให้มีสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงรถยนต์คันพิพาทตามระเบียบของราชทัณฑ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครองกรมการปกครองโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว
จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยการปกครอง ตำแหน่งคนงานมีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณวิทยาลัย จำเลยที่ 4 ไม่ได้อนุญาตให้ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากวิทยาลัยแต่ อ. ขอให้จำเลยที่ 4 นั่งไปในรถยนต์เพื่อขับรถยนต์กลับ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้ร่วมกันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนทำอันก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวและความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นส่วนราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 มีอธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน วิทยาลัยการปกครองเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ และโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรถยนต์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ปล่อยปละละเลยไม่จัดให้มีการควบคุมการใช้รถยนต์ ไม่กำหนดหน้าที่ผู้ที่เก็บกุญแจรถยนต์ ปล่อยให้รถยนต์คันดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมไม่ดำเนินการจัดซ่อมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีตามระเบียบราชการ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำมีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดในบริเวณวิทยาลัยการปกครองจัดรถยนต์คันดังกล่าวมอบให้นายอุทิศ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกขับรถยนต์คันดังกล่าวนำนักโทษซึ่งมาทำความสะอาดวิทยาลัยการปกครองกลับสถานกักขังกลางธัญบุรี นายอุทิศได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปทำความเสียหายแก่ผู้มีชื่อและในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาให้โจทก์และนายอุทิศร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้มีชื่อ โจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 292,071.35 บาท จำเลยทั้งสี่ได้ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติการตามหน้าที่และจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 146,035.67 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 146,035.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2542 จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2543 เป็นเงิน 10,952.68 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 156,988.35 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 146,035.67 บาท นับจากวันที่ 9 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมวิทยาลัยการปกครอง ไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการใช้และการรักษารถยนต์ของโจทก์ที่ให้วิทยาลัยการปกครองไว้ใช้ในราชการ และไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานคร การที่นายอุทิศ ขับรถยนต์ของโจทก์ดังกล่าวไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกจนกระทั่งโจทก์ถูกฟ้องและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2542 ให้นายอุทิศและโจทก์ร่วมกันรับผิดนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 เพราะนายอุทิศขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท ทั้งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 กำหนดให้เจ้าหน้าที่รับผิดเฉพาะกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า กรณีเกิดการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่หลายคนมิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่น และคดีโจทก์ก็ขาดอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 10 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานคร อยู่ในการควบคุมดูแลของหมวดยานพาหนะ ไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดงานอาคารและสถานที่ เพราะมิได้มีการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากนายอุทิศ เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้โดยพลการจำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวการหรือตัวแทนของนายอุทิศ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายอุทิศเอง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิด ทั้งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 จำเลยที่ 2 จะรับผิดเฉพาะกรณีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และคดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 10 แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบความมีอยู่ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานคร เนื่องจากจำเลยที่ 3 เพิ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มาอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ 5 ของวิทยาลัยการปกครองเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 และไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ด้านธุรการเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้รถยนต์คันดังกล่าวเพราะมิได้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้างประจำในสังกัดของโจทก์ มีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดในบริเวณวิทยาลัยการปกครองเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์หรือดูแลรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานครและไม่ได้อนุญาตหรือทำการใด ๆ ให้นายอุทิศ ขับรถยนต์คันดังกล่าวจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการอันเกี่ยวกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานครจะมีส่วนประมาทเลินเล่อในกิจการอันเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่ความเสียหายที่เกิดแก่บุคคลภายนอกมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ แต่เกิดจากผลโดยตรงที่นายอุทิศ ประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เงิน 146,035.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4 ย – 2862 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์ส่วนกลางของโจทก์ที่มอบให้วิทยาลัยการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์เป็นผู้ใช้ประโยชน์ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลและรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม อันเป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งในสามหน่วยงานหลักของวิทยาลัยการปกครอง จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายด้วยวาจาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรม วิทยาลัยการปกครองให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันดังกล่าว มีจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ซึ่งมีหน้าที่ช่วยดูแลรถยนต์คันดังกล่าวด้วย แต่ไม่ได้ทำสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงตามระเบียบของทางราชการ รวมทั้งไม่มีการมอบหมายให้บุคคลใดเป็นคนขับ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 นายอุทิศ เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ซึ่งนำผู้ต้องขังจากเรือนจำธัญบุรีมาช่วยพัฒนาสถานที่ของวิทยาลัยการปกครอง ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาผู้ต้องขังกลับเรือนจำโดยมีจำเลยที่ 4 นั่งคู่ไปเพื่อขับรถยนต์กลับ แต่นายอุทิศขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครอง ต่อมาบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้เสียหายฟ้องโจทก์และนายอุทิศให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์และนายอุทิศร่วมกันชดใช้เงิน 220,638 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง โจทก์ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเต็มจำนวนแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และเรียกให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวกึ่งหนึ่งจำนวน 146,035.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันชำระเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่
ในปัญหาที่โต้แย้งกัน โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประมาทเลินเล่อทำให้นายอุทิศขับรถยนต์คันดังกล่าวออกไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจนศาลพิพากษาให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ได้นั่งรถยนต์ไปกับนายอุทิศเพื่อนำรถยนต์กลับหลังจากส่งผู้ต้องขังแล้ว ถือว่าเป็นการอนุญาตให้นายอุทิศนำรถยนต์ออกไปแล้วก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย
จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า นายอุทิศขับรถยนต์คันดังกล่าวออกจากวิทยาลัยการปกครอง โดยมีจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์นั่งไปด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตการมอบหมายให้หมวดอาคารและสถานที่ควบคุมดูแลรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า การมอบหมายรถยนต์คันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์ ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสาม เห็นว่า มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติอยู่ในหมวด 5 ว่าด้วยการปฏิบัติราชการแทน ในส่วนที่ 1 ว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง และเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด และกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจเพื่อกระจายอำนาจบริหารให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดินอันจะเป็นประโยชน์มหาชน และกำหนดวิธีการมอบอำนาจโดยให้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา 38 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ แม้ว่าตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองอันเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายปกครองที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองจะกระทำใด ๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ อันเป็นการบริหารงานภายในของวิทยาลัยการปกครอง หาใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่หากจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 วินิจฉัยสั่งการ จะต้องทำเป็นหนังสือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ เมื่อได้ความตามบันทึกสอบสวนข้อเท็จจริงเอกสารหมาย จ. 18 ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ว่า จำเลยที่ 1 มอบให้หมวดอาคารและสถานที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยชอบแล้ว แม้การมอบหมายจะกระทำด้วยวาจาก็ตาม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ แต่เกิดจากการกระทำของนายอุทิศซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม แม้จะมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุแล้วก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยหน้าที่การควบคุมของตน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาท โดยไม่จัดให้มีสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงรถยนต์คันพิพาทตามระเบียบของทางราชการอันเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายอุทิศเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครอง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยทั้งสี่จะไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์คันพิพาทในขณะเกิดเหตุก็ตาม การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ได้ความจากรายงานการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดลงวันที่ 15 ธันวาคม 2542 เอกสารหมาย จ. 11 ของโจทก์ว่า เหตุที่นายอุทิศไม่ได้ขออนุญาตใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ น่าจะเป็นเพราะความคุ้นเคยที่นายอุทิศเคยควบคุมผู้ต้องขังมาช่วยพัฒนาวิทยาลัยการปกครองอยู่บ่อยครั้ง เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่วิทยาลัยการปกครองอยู่เสมอ ๆ จึงได้อะลุ่มอล่วยซึ่งกันและกัน เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยการปกครองตำแหน่งคนงาน มีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณวิทยาลัย จำเลยที่ 4 ไม่ได้อนุญาตให้นายอุทิศขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากวิทยาลัย แต่นายอุทิศขอให้จำเลยที่ 4 นั่งไปในรถยนต์เพื่อขับรถยนต์กลับ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 4 ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เอกสารหมาย จ. 20 การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิด จึงเหลือปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร กรณีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้ร่วมกันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนทำอันก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวและความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่งแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน คือคนละ 48,678.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 ในข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินคนละ 48,678.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องชำระนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ