คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงโดยนำคำเบิกความของโจทก์ในชั้นพิจารณาและคำเบิกความของ ด. กับ ว. ซึ่งเป็นพยานโจทก์มาเป็นข้อวินิจฉัย ก็โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบแล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยฎีกาให้รับฟังคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามในคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,078,485.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,138,896 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยแบ่งค่าเช่าในอัตราร้อยละสิบต่อเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ทุกเดือน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 131,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ปัญหาประการแรกที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ครอบครองค่าเช่าแทนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลมีคำสั่งตั้งนาวาเอกแสวงเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้องขอของจำเลย การที่จำเลยเก็บค่าเช่าตึกแถวแล้วไม่นำไปมอบให้ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ถือได้ว่าจำเลยครอบครองค่าเช่าไว้แทนโจทก์ผู้มีส่วนได้รับส่วนแบ่งค่าเช่าด้วย จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถานำมารับฟังประกอบการพิจารณาในชั้นสืบพยานได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นอันยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น” ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า หลังจากนางเสตายโจทก์อาศัยอยู่กับจำเลยประมาณ 2 เดือน แล้วโจทก์ออกไปอยู่อาศัยกับนางดวงใจ อีกประมาณ 2 ปี จากนั้นโจทก์ไปอยู่กับนางลำยอง จนถึงปัจจุบัน ในข้อนี้โจทก์ยังมีนางดวงจิตต์ และนางดวงใจมาเบิกความสนับสนุน จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า โจทก์อาศัยอยู่กับจำเลยเพียง 1 เดือนเศษ แล้วโจทก์ย้ายออกไปอยู่กับนางลำยองจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่จำเลยอ้างคำเบิกความของโจทก์ชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา มิใช่เป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จึงไม่รับพยานหลักฐานดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อนางเสถึงแก่ความตาย โจทก์อยู่กับจำเลยเป็นเวลา 2 เดือน แล้วโจทก์ออกไปอยู่กับนางดวงใจอีก 2 ปี จากนั้นโจทก์ออกไปอยู่กับนางลำยองจนถึงปัจจุบัน ถือว่าในช่วงเวลา 2 ปี 2 เดือน ที่โจทก์อยู่กับจำเลยและนางดวงใจเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมข้อ 3 วรรคสอง จำเลยจึงต้องแบ่งเงินค่าเช่าตึกแถวร้อยละ 10 ของแต่ละเดือนแก่โจทก์เป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน เป็นเงินจำนวน 131,040 บาท เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก็โดยใช้ดุลพินิจวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้น เหตุที่นำคำเบิกความของโจทก์ในชั้นพิจารณาและคำเบิกความของนางดวงจิตต์กับนางดวงใจซึ่งเป็นพยานโจทก์มาเป็นข้อวินิจฉัยก็โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยฎีกาให้รับฟังคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์เป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามเช่นกัน ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share