คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 4 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกระโดดถีบหน้าอกจำเลย แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 4 เห็นจำเลยชักปืนพกออกมาจึงร้องบอกให้ผู้เสียหายอื่นทราบ แล้วผู้เสียหายทั้งสี่ต่างก็วิ่งหนีเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยจึงไม่มีต่อไปแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่หลายนัดและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่ด้านหลังของต้นขาขวา ทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายอื่น อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการยิงขณะผู้เสียหายทั้งสี่หันหลังให้จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงหาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในวัยรุ่นและจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วย แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะไม่รู้ก็ตาม ทั้งเหตุแต่แรกก็เป็นสาเหตุเล็กน้อยเพียงแต่โต้เถียงกันเรื่องขวางทางเดินเท่านั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสี่กลับมาพบจำเลยในที่เกิดเหตุอีก แล้วผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบหน้าอกจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยโกรธเพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีลักษณะเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่ทันทีในขณะผู้เสียหายทั้งสี่วิ่งหนี จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายที่ 3 อยู่ห่างจำเลยเพียง 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายอื่นก็อยู่ห่างจำเลยเพียง 5 เมตร ถึง 6 เมตร เท่านั้น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมากกว่าบุคคลทั่วไปและได้ยิงถึง 6 นัด แต่กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียวและถูกที่ด้านหลังของต้นขาขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญอันไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกยิง ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 และพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อันเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 295, 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 80 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยกระทำผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำเลยกระทำผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบด้วยมาตรา 72 กรรมหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี และมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 72 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 8 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 เดือน 10 วัน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้เสียหายทั้งสี่กับจำเลยต่างไม่รู้จักกันมาก่อน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายทั้งสี่ต่างพูดจาโต้เถียงกับจำเลย ซึ่งมิได้แต่งเครื่องแบบตำรวจในเรื่องที่ยืนขวางทางกันแล้วต่างแยกย้ายกันไป ต่อมาประมาณครึ่งชั่วโมงกลุ่มของผู้เสียหายทั้งสี่ได้กลับมาที่เกิดเหตุและพบจำเลยอีก ผู้เสียหายที่ 4 เดินเข้าไปหาจำเลยแล้วกระโดดถีบจำเลยถูกที่หน้าอก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 4 เสียหลักล้มลงและร้องตะโกนว่า จำเลยมีปืนแล้วลุกขึ้นวิ่งหนี ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จึงวิ่งหนีตาม จำเลยได้ใช้อาวุธปืนพกของทางราชการยิงหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 บริเวณด้านหลังต้นขาขวาได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว จำเลยใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย สำหรับข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่เจตนาฆ่า มีเจตนาเพียงทำร้าย และยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 4 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกระโดดถีบหน้าอกจำเลยก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 4 เห็นจำเลยชักปืนพกออกมาจึงร้องบอกให้ผู้เสียหายอื่นทราบ แล้วผู้เสียหายทั้งสี่ต่างก็วิ่งหนีเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยจึงไม่มีต่อไปแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่หลายนัดและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่ด้านหลังของต้นขาขวาทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสแต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายอื่น อันแสดงให้เห็นว่า เป็นการยิงในขณะผู้เสียหายทั้งสี่หันหลังให้จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงหาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีความเห็นไม่ แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในวัยรุ่นอายุน้อยกว่าจำเลยไม่น้อยกว่า 20 ปีและจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วย แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะไม่รู้ก็ตาม ทั้งเหตุแต่แรกก็เป็นสาเหตุเล็กน้อยเพียงแต่โต้เถียงกันเรื่องขวางทางเดินเท่านั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสี่กลับมาพบจำเลยในที่เกิดเหตุอีก แล้วผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบหน้าอกจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยโกรธ เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีลักษณะเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่ทันทีในขณะผู้เสียหายทั้งสี่วิ่งหนี จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลล่างฟังมาฟังได้ว่า ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายที่ 3 อยู่ห่างจำเลยเพียง 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายอื่นก็อยู่ห่างจำเลยเพียง 5 ถึง 6 เมตร เท่านั้น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมากกว่าบุคคลทั่วไป และได้ยิงถึง 6 นัด แต่กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียวและถูกที่ด้านหลังของต้นขาขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญอันไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกยิง ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 และพยายามทำร้ายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในส่วนนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า เหตุการณ์ในตอนหลังเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจอื่นจับกุมผู้เสียหายทั้งสี่แล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กายเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีความเห็นและลงโทษจำเลยหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สิบตำรวจตรีฤทธิ์เดช พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จับกุมผู้เสียหายทั้งสี่แล้วนำมาที่ท้ายกระบะรถของเจ้าพนักงานตำรวจแล้วสั่งให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมอบที่ท้ายกระบะรถนั้น จำเลยได้เข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งสี่และสิบตำรวจตรีฤทธิ์เดชได้ยินเสียงผู้เสียหายทั้งสี่พูดว่า มึงระวังตัวให้ดี กูจะเอาคืน จำเลยจึงบอกให้หมอบแต่ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ยอมหมอบ นอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พวกผู้เสียหายทุกคนจะเอาเรื่องจำเลย จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์แรกและจำเลยได้ทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 หลังจากมีการสั่งให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมอบกับพื้นรถยนต์แต่ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ยอมหมอบทั้งยังพูดจาอาฆาตจำเลย จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบจำเลย ทั้งเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมดังวินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำในตอนหลังนี้ถึงจะขาดตอนจากการกระทำความผิดตอนแรก แต่เห็นได้ว่าเป็นเวลาต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะและพิพากษาลงโทษจำเลยมาโดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติของจำเลยด้วยนั้น จึงเหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นและการกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะกับความผิดฐานพยายามทำร้ายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะซึ่งเป็นการกระทำในตอนแรกนั้น เกิดขึ้นสืบเนื่องจากผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบจำเลยก่อน ซึ่งเป็นเหตุเกี่ยวกันกับการกระทำความผิดในตอนหลังนี้ จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติของจำเลยไว้เช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) และมาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อีกกรรมหนึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษ รวมเป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 21 เดือน 10 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share