แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหลังลดโทษแล้ว 6 เดือน เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่รอการลงโทษไว้ย่อมต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์มาทุกข้อและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และปัญหาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 371
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือนและปรับ 8,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรจำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 15 เดือน และปรับ 8,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว เห็นว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นที่พึงพอใจแล้วและผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร จำนวน 15 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีและพาไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นปืนพลาสติกซึ่งเป็นของเด็กเล่นไม่ใช่ปืนจริงเป็นฎีกาในทำนองปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนดังกล่าวเพื่อใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้และจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหายที่แขนเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยโดยให้ลงโทษปรับจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้อีกสถานหนึ่ง และให้คุมความประพฤติของจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหลังลดโทษแล้ว 6 เดือน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษจำคุก จำเลยฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่รอการลงโทษไว้ย่อมต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์มาทุกข้อและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยเนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และปัญหาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และยกฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วย นอกจากนี้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น