แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลย 4 เดือน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานจำเลยว่า โจทก์ร่วมได้ลงมือประทุษร้ายร่างกายจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันและหากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดก็มีเหตุสมควรรอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานและการลงโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน ป.วิ.อ. จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่ตามคำร้องคงเพียงขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนหนึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุชื่อตามคำร้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพังจึงไม่มีผลเป็นการอนุญาตให้ฎีกาที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 เพราะมิได้ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งมิได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยใช้ขวดโหลแก้วหลายใบทุ่มใส่หน้านางวันเพ็ญ ผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ถูกตาข้างซ้ายของผู้เสียหาย เปลือกตาล่างด้านใน ผนังลูกตาด้านล่างส่วนที่เป็นตาขาวและกระจกตาฉีกขาด วุ้นในลูกตาทะลักรับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณานางวันเพ็ญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลย 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานจำเลยว่าโจทก์ร่วมได้ลงมือประทุษร้ายร่างกายจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน และหากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดก็มีเหตุสมควรรอการลงโทษ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานและการลงโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้แต่ตามคำร้องคงเพียงขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนหนึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุชื่อตามคำร้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพังจึงไม่มีผลเป็นการอนุญาตให้ฎีกาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เพราะมิได้ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นคนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งมิได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีผลเป็นการอนุญาตที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ก็ตาม เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ได้ความว่าสาเหตุกระทำผิดมาจากจำเลยไปทวงหนี้จากโจทก์ร่วมและเกิดทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน แต่ต่อมาทั้งสองฝ่ายเลิกราต่อกันโดยจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมจนพอใจ โจทก์ร่วมไม่ติดใจเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ประกอบกับจำเลยมีบุตรยังเล็กที่ต้องดูแล และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และให้ยกฎีกาของจำเลย