คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนามตามที่ พ.ร.พ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 26 กำหนด และหากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนก็ต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 37 เมื่อฟังไม่ได้ว่า ส.ได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจให้กระทำการแทนในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ จึงเป็นการยื่นคำร้องที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่ได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนามแทน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินนมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 37 ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7(1) และมาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 ตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 8 เลขที่ 1 ไม่ได้ลงวันที่ เดือนพฤศจิกายน 2548 และเพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 เลขที่ 12 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 271,800 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กรณีมีข้อพิพาททางแพ่งระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกับจำเลยซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พศจิกายน 2540 ที่โจทก์ส่งเรื่องที่มีกรณีพิพาทกับจำเลยให้สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอต่อคณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป และโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ที่จะไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวประกอบกับเมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาด โจทก์ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งคำชี้ขาด และคำชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย การที่โจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสุรสีห์ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อีกทั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะที่จะได้รับการยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งจำเลยไม่ได้ลงวันเดือนพฤศจิกายน 2548 และคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี 271,800 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดหากไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าวให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่านานสุรสีห์ยื่นคำร้องของให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนามตามที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 กำหนดและหากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนก็ต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 37 เมื่อตามหนังสือรับรองไม่ปรากฎว่า นายสุรสีห์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งที่ รบ.55/2546 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้บริหารปฏิบัติการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่โจทก์อ้างว่า เป็นการมอบอำนาจให้นายสุรสีห์มีอำนาจกระทำการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์ ก็ไม่ปรากฎว่านายอรัญ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งในคำสั่งดังกล่าวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า นายอัรญเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวแทนโจทก์ได้ด้วยเหตุประการใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นายสุรสีห์ได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ยื่นต่อจำเลย จึงเป็นการยื่นคำร้องที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่ได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนามแทน จึงไม่ชอบตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 37 ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่เคยโต้แย้งเรื่องอำนาจการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับคำร้องไว้พิจารณาจนมีคำชี้ขาด เชื่อว่า นายสุรสีห์มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองให้เป็นพับ

Share