แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. และค่าจ้างของโจทก์ก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
และเมื่อโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และค่าตอบแทนอื่น ๆ หรือเสนอเรื่องที่โจทก์ขอเข้าพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาว่า ไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา โดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อประโยชน์ราชการไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ แม้ต่อมาผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 146 และโจทก์สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลแรงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างระหว่างดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกจ้าง ต่อมา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยโจทก์ทั้งห้าไม่ได้กระทำผิด และไม่ได้จ่ายค่าชดเชย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,310 บาท หรือวันละ 610.33 บาท 36,590 บาท หรือวันละ 1,219.67 บาท 15,315 บาท หรือวันละ 510.50 บาท 15,135 บาท หรือวันละ 504.50 บาท และ 18,250 บาท หรือวันละ 608.33 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันลาป่วย และค่าทำงานในวันหยุดตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานในการรวบรวมทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือร้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทน จำเลยสั่งยกคำร้อง โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โดยไม่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของจำเลยต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งห้าเป็นพนักงานชั่วคราวทำงานในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 856/2545 ของศาลล้มละลายกลาง อันเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยและอยู่ภายในบังคับบัญชาของจำเลยโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของหน่วยงานราชการ สังกัดกองบังคับคดีล้มละลาย 1 กรมบังคับคดี สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามมาตรา 4 (1) และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 เป็นการทำงานที่ไม่ได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าทำงานในวันหยุดตามกฎหมายกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 3 งานที่โจทก์ทั้งห้าทำมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้ากำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไม่แยกเป็นค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ และค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีเป็นเงินจำนวนเท่าใด และคำฟ้องของโจทก์ที่ 5 ไม่ระบุว่าลาป่วยกี่วันจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ทั้งห้าเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ข้อเรียกร้องระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยต้องจ่ายเงินตามคำฟ้องให้โจทก์ทั้งห้าหรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินให้โจทก์ทั้งห้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางลางน้อยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงนามในหนังสือสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นพนักงานชั่วคราวโดยขออนุมัติจัดจ้างจากรองอธิบดีผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดีแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าในนามกรมบังคับคดี โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามมาตรา 4 (1) โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล อีกทั้งค่าจ้างของโจทก์ทั้งห้าก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัทกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ได้เป็นลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น
อนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยยังมีอีกประการหนึ่งว่า เมื่อจำเลยยกคำร้องของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนแล้วโจทก์ทั้งห้าต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นหนังสือที่โจทก์ทั้งห้าขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มหรือเสนอเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าขอเข้าพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางกลับหรือสั่งแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้
เนื่องจากคดียังมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันลาป่วย และค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าหรือไม่ เพียงใด ซึ่งจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นอื่นแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป