คำวินิจฉัยที่ 15/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๒

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลจังหวัดสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๐ นายลม วิเศษวงษา โจทก์ ยื่นฟ้องนายศราวุธ ศุภลักษณศึกษากร ที่ ๑ นายปราโมทย์ สุจินพรัหม ที่ ๒ นายจรัส หนูพันธ์ ที่ ๓ นางอัจฉรา ภาณุรัตน์ ที่ ๔ พลตำรวจตรี สมเกียรติ บุญยเกียรติ ที่ ๕ พลตรี ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ ๖ นายประเทือง เติมสุข ที่ ๗ นายพุทธกาล แสนกล้า ที่ ๘ นายโสม พางาม ที่ ๙ นายทองพูน สุทธิธรรม ที่ ๑๐ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๓/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายอำเภอรัตนบุรี ได้มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ โดยกล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนได้เสียทางอ้อมกรณีนางนงลักษณ์ ชาวสวนหรือวิเศษวงษา บุตรสาวโจทก์ ทำสัญญากับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ ทั้งที่โจทก์ไม่เคยรู้เห็นหรือมีส่วนได้เสียทางตรงหรือทางอ้อมกับการทำสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพราะโจทก์พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ การที่จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยมีผลย้อนหลัง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตและผิดกฎหมาย และเมื่อวันที่ ๒๗ ถึงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกันนำคำสั่งที่ผิดกฎหมายของจำเลยที่ ๑ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์และร่วมลงมติเป็นเอกฉันท์ชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติของโจทก์ตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ และตามคำร้องของจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่เช่นเดียวกับโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ ซึ่งเป็นคำร้องที่มิชอบด้วยกฎหมายและปราศจากเหตุผล เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นการสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นการร่วมกันกระทำโดยทุจริต จ้างวาน ใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๘๖ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๓๒
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ทั้งโจทก์ในคดีนี้ยังได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๙๓/๒๕๔๙
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นคดีความผิดทางอาญามีโทษจำคุกและปรับตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลจังหวัดสุรินทร์ ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้
ศาลจังหวัดสุรินทร์เห็นว่า คดีนี้ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายอำเภอรัตนบุรีว่าใช้อำนาจโดยมิชอบสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งข้างต้น เป็นเหตุให้โจทก์ตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๕ จำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๒ (๖) ประกอบมาตรา ๔๗ ตรี (๖) ซึ่งเป็นการกระทำที่นอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ส่วนการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งของจำเลยที่ ๑ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ จึงมีมูลความแห่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีเดียวกัน อาจเป็นทั้งการกระทำทางปกครองและการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้น การกระทำใดประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่มีโทษทางอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การกระทำใดเป็นการกระทำที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจควบคุมตรวจสอบได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลตรวจสอบการกระทำของจำเลยทั้งสิบว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๘๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ และขอให้ศาลพิจารณาลงโทษทางอาญาแก่จำเลยทั้งสิบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง คดีจึงอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่โจทก์ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายอำเภอรัตนบุรี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ย้อนหลัง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ นำคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ เข้าสู่การพิจารณาและวินิจฉัยให้โจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่ตามคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๐ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๘๖ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๓๒ อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายลม วิเศษวงษา โจทก์ นายศราวุธ ศุภลักษณศึกษากร ที่ ๑ นายปราโมทย์ สุจินพรัหม ที่ ๒ นายจรัส หนูพันธ์ ที่ ๓ นางอัจฉรา ภาณุรัตน์ ที่ ๔ พลตำรวจตรี สมเกียรติ บุญยเกียรติ ที่ ๕ พลตรี ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ ๖ นายประเทือง เติมสุข ที่ ๗ นายพุทธกาล แสนกล้า ที่ ๘ นายโสม พางาม ที่ ๙ นายทองพูน สุทธิธรรม ที่ ๑๐ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share