แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์ฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางเป็นประเด็นข้อพิพาทมาแต่ต้น กรณีนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว ศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟ้องคดีนี้ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางโดยไม่ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนแก่โจทก์ อันเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) มาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 654,289.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจกท์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 654,289.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (28 ตุลาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายในข้อ 2.1 มีใจความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าผู้มีชื่อของโจทก์จำนวน 10 ราย โจทก์ส่งสินค้าให้ลูกค้าครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 เบิกใบเสร็จรับเงินจากโจทก์เพื่อเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าทั้ง 10 ราย ดังกล่าว โดยได้เก็บเงินและรับสินค้าคืนจากลูกค้าทั้ง 10 รายแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินที่เก็บได้กับสินค้าที่ลูกค้าคืนมามอบให้โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์และเป็นความผิดอาญาที่กระทำนอกกรอบสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยมีวัตถุประสงค์ที่จะจ้างลูกจ้างให้กระทำผิดในทางอาญา จึงมิใช่การทำละเมิดที่เกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์ฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน การปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางเป็นประเด็นข้อพิพาทมาแต่ต้น กรณีจึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว ศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟ้องคดีนี้ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเสียเองว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางโดยไม่ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น อนึ่ง แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 654,289.02 บาท คืนแก่โจทก์ อันเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) มาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ แล้วให้ดำเนินการต่อไป