แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ. จัดจั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4, 83 (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้ เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป