คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 290 และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 23 แสดงให้เห็นว่า ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 พยายามทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในเขตหาดมาหยาที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำหรือขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติได้ ซึ่งรวมทั้งฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้ด้วย
คำว่า “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 46 ยังไม่มีคำนิยามความหมายหรือขอบเขตที่แน่นอน ทั้งบทบัญญัติมาตรานี้มีเงื่อนไขที่ต้องมีกฎหมายบัญญัติออกมาตามมาตรานี้ เมื่อในขณะที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดกระบี่และอาศัยอยู่บริเวณรอบอ่าวมาหยายื่นฟ้องยังไม่มีกฎหมายบัญญัติออกมาใช้บังคับ จึงไม่อาจถือได้ว่ามีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 แล้ว โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสิทธิประโยชน์และคุณภาพชีวิตของโจทก์ทั้งสิบเก้า คำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และให้เพิกถอนใบอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายถึงการทำละเมิด ค่าเสียหายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าเท่าใดก็มิใช่ข้อสำคัญเพราะโจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าทำละเมิดทำให้โจทก์ทั้งสิบเก้าเสียหายโดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องขอให้ปรับปรุงหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมแม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายว่าสภาพเดิมตามธรรมชาติของหาดมาหยาเป็นอย่างไร ถูกปรับเปลี่ยนอย่างไร อันเป็นเหตุให้น้ำ อาหาร อากาศ ชายหาด ต้นไม้ ภูเขา ระบบนิเวศน์ หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเสียหาย หรือเกิดมลพิษอย่างไรก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะโจทก์ทั้งสิบเก้าอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่ห้ามมิให้ฝ่ายจำเลยกระทำการใดเพื่อกระทำการปรับปรุง ตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยา หากไม่วางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้กระทำการปรับปรุงตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยาไปแล้ว และได้ถ่ายภาพยนตร์เสร็จเรียบร้อยทั้งได้ออกไปจากบริเวณอ่าวมาหยาแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้จำเลยทั้งห้าปฏิบัติตามคำขอข้อนี้
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์บริเวณอ่าวมาหยาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอน มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในบริเวณหาดมาหยา แต่เมื่อจำเลยที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ตามใบอนุญาตเสร็จเรียบร้อยจนนำออกฉายทั่วโลกแล้ว การเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลจัดการ และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องดูแลทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 เป็นบุคคลในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดกระบี่ และอาศัยอยู่บริเวณรอบอ่าวมาหยา เกาะพีพีเล ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เป็นผู้มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว รวมทั้งมีสิทธิที่จะฟ้องร้องหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และกฎหมายอื่น ๆ ทีเกี่ยวข้องที่จะต้องคุ้มครอง ดูแล รักษา พื้นที่ที่ได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชนอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน จำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนและเป็นผู้แทนตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาพื้นที่อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ให้คงอยู่สภาพเดิมตามธรรมชาติตามกฎหมาย จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 4 รวมทั้งบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์บีช โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช เข้าไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา และปลูกต้นมะพร้าวหรือพืชอื่น ๆ บนเกาะพีพีเลเพื่อประโยชน์ในการถ่ายทำภาพยนต์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิม โดยให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดังกล่าวผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมการดำเนินการเพื่อใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมกันปรับปรุงตกแต่งเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี โดยการใช้รถแบ็กโฮ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ขุดสร้าง แผ้วถางปรับทำการให้เป็นอันตราย และทำลายพื้นที่สันทรายในบริเวณหาดมาหยา ทำการขนย้ายพืชพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติออกไปเพื่อนำต้นมะพร้าวเข้าไปปลูก รวมทั้งก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ชายหาดดังกล่าว อันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจังหวัดกระบี่ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 43 และมาตรา 44 ซึ่งกำหนดความรับผิดไว้ในมาตรา 97 และตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมซึ่งออกตามความในมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 และมาตรา 59 จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำการใด ๆ ในอุทยานแห่งชาติได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้มีการคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมไว้ตลอด ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ในการอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปปรับปรุงตกแต่งพื้นที่เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์จึงเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง การที่จำเลยที่ 3 แต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ตรวจสอบควบคุมการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่หาใช่การปฏิบัติการไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพื้นที่และเพื่ออำนวยความสะดวกในการทัศนาจร หรือการพักอาศัยหรือเพื่ออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชนตามกฎหมาย แต่เป็นการอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำภาพยนตร์เท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจกระทำได้ นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 5 ยังฝ่าฝืนข้อบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการให้สินบนในต่างประเทศตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง ทำให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ ดิน หิน กรวด ทราย รวมทั้งต้นไม้ ใบไม้ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา เกาะพีพี ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันให้ได้รับความเสียหาย และมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิประโยชน์และคุณภาพชีวิตของโจทก์ทั้งสิบเก้า และประชาชนในการไม่ได้รับการศึกษาและความรื่นรมย์ตามธรรมชาติ จากการที่บริเวณชายหาดอ่าวมาหยามีการปรับปรุงพื้นที่โดยปลูกต้นมะพร้าวถึง 100 ต้น และทำไร่กัญชาบนเกาะ แม้จะต้องนำออกเมื่อถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จก็จะสร้างปัญหาให้ผู้มาเยือนในภายหลังว่าไม่เห็นต้นมะพร้าว ทำให้ถูกมองว่าไม่อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งผลิตกัญชา เมื่อสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ทั้งสิบเก้าจึงเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากถูกจำเลยทั้งห้าโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องคดีได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคท้าย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้พิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์บริเวณอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี เป็นโมฆะ เพราะเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันวางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่วางเงินประกันให้ศาลมีคำสั่งห้ามกระทำการใด ๆ เพื่อกระทำการปรับปรุงตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าทำการถ่ายทำภาพยนตร์บริเวณชายหาดมาหยา ให้จำเลยทั้งห้าปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ได้อนุมัติให้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชได้ จำเลยที่ 4 จึงยื่นคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งคณะทำงานด้านวิชาการพิจารณาข้อเสนอของจำเลยที่ 4 ว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของเกาะหรือไม่ และข้อดีข้อเสีย ประกอบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีแผนปรับปรุงบริเวณอ่าวมาหยาอยู่แล้ว จึงอาศัยอำนาจตามระเบียบอนุมัติโดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 ให้ทำการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดมาหยาโดยการสนับสนุนของจำเลยที่ 4 พร้อมทั้งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถ่ายทำภาพยนตร์โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่เมื่อมีผู้คัดค้าน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับปรับปรุงบริเวณเกาะขึ้นอีกคณะหนึ่งเพื่อให้คำแนะนำทางวิชาการสำหรับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกำหนดวิธีการและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม จากการตรวจสอบคณะกรรมการมีความเห็นว่าการถ่ายทำภาพยนตร์อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่มิใช่อยู่ในวิสัยที่เป็นผลกระทบรุนแรงเกินกว่าจะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้ น่าจะอนุญาตได้ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงในการอนุญาตเพิ่มเติมขึ้น จำเลยที่ 4 ได้ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยาและถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2542 จึงแล้วเสร็จ โดยใช้พื้นที่เพียง 2 งานเท่านั้น และได้ปรับปรุงให้กลับคืนสู่สภาพเดิมแล้ว โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสิบเก้าไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคณะกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยมีมติให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดี โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 มิใช่บุคคลในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งมิได้อยู่อาศัยบริเวณรอบอ่าวมาหยาเพราะเกาะพีพีเลอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดกระบี่ประมาณ 40 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โจทก์ทั้งสิบเก้าไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว การอนุญาตให้เข้าถ่ายทำภาพยนตร์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสิบเก้าและมิได้มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาหรืออนุญาตให้กระทำการอันฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ให้ข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจงและเหตุผลของการอนุญาตต่อสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป ทั้งรับฟังความคิดเห็นตลอดมา การถ่ายทำภาพยนตร์จำเลยที่ 4 ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบและต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มาวางไว้จนกว่าจะปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่ปกติ และจำเลยที่ 4 ตกลงมอบเงิน 4,000,000 บาท ให้เป็นรายได้ของอุทยานเพื่อใช้จ่ายในการบริหารและบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 เข้าไปฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยาถ่ายทำภาพยนตร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเท่าใด หรือต้องใช้เงินในการฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยาให้คืนสภาพเดิมเป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องวางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมและไม่มีเหตุผล จำเลยที่ 4 ได้ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยา เกาะพีพีเล และถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า การฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ผ่านมติของคณะกรรมการก่อน และโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 มิใช่บุคคลในท้องถิ่นดั้งเดิม และไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยา เกาะพีพีเล โจทก์ทั้งสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 5 และของบริษัทผู้ถ่ายทำภาพยนตร์จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 4 ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 5 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชายหาด หรือทำให้เสื่อมสภาพธรรมชาติเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์บนเกาะพีพีเล การได้รับอนุญาตเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นโมฆะ การดำเนินการต่าง ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยการปรับปรุงเป็นไปตามข้อตกลงที่มีอยู่ทุกขั้นตอน ทั้งเป็นการปรับปรุงเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติด้วย โจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้ถูกโต้แย้งสิทธิใด ๆ ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าเคลือบคลุม เนื่องจากไม่บรรยายว่าจำเลยแต่ละคนกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบเก้าอย่างไร เสียหายอย่างไร คิดค่าเสียหายเป็นเงินหรือมูลค่าเท่าใด จึงเรียกเงินประกันความเสียหายถึง 100,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ทั้งสิบเก้าไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ แต่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายและถูกโต้แย้งสิทธิ์ ข้อตกลงในการอนุญาตให้เข้าถ่ายทำภาพยนตร์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ด้วย การปรับปรุงหาดมาหยากระทำโดยได้รับอนุญาตแล้ว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ต่อสภาพธรรมชาติของหาด การปรับปรุงหาดมาหยาและการถ่ายทำภาพยนตร์ตามฟ้องได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีอีกต่อไป ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสิบเก้าเสีย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องให้งดสืบพยาน เนื่องจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้า ไม่อาจก่อให้เกิดสภาพบังคับได้เพราะขณะที่โจทก์ทั้งสิบเก้ายื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ และการปรับปรุงอ่าวมาหยาและถ่ายทำภาพยนตร์ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ฟื้นฟูอ่าวมาหยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามข้อตกลง และจำเลยที่ 3 ได้คืนหลักประกันให้แก่จำเลยที่ 5 แล้ว โจทก์ทั้งสิบเก้าคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสิบเก้าและพยานจำเลยทั้งห้าและพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสิบเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาประเด็นข้อพิพาทตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ของโจทก์ทั้งสิบเก้าต่อไปแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่
โจทก์ทั้งสิบเก้า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า โจทก์ทั้งสิบเก้ามีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 อ้างว่า โจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 คำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่อนุญาตให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์บีช โปรดักชั่น จำกัด ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช บนอ่าวมาหยาตามเอกสารหมาย จ.8 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสิบเก้ามิใช่ผู้เสียหายเป็นพิเศษ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 290 เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(1) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่
(2) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน
(3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 23 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายสภาตำบลอาจดำเนินกิจการภายในตำบลดังต่อไปนี้…
(4) คุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…
กับพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45 บัญญัติว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้…
(7) คุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่าทั้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 พยายามทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในเขตที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำหรือขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติได้ ซึ่งรวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 ซึ่งอ้างว่าตนเป็นบุคคลในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดกระบี่ จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
จะเห็นได้ว่า คำว่า “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ยังไม่มีคำนิยามความหมายหรือขอบเขตที่แน่นอน ทั้งบทบัญญัติมาตรานี้มีเงื่อนไขที่ต้องมีกฎหมายบัญญัติออกมาตามมาตรานี้ เมื่อในขณะที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 ฟ้องยังไม่มีกฎหมายบัญญัติออกมาใช้บังคับ ดังนั้นยังไม่อาจถือได้ว่ามีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 แล้ว โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้ฟังขึ้น ดังนั้นโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 จึงไม่มีสิทธิฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าเคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้บรรยายฟ้องให้เห็นโดยชัดแจ้งซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ของโจทก์ทั้งสิบเก้าเคลือบคลุม โดยศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่วินิจฉัยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ใหม่ ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาประเด็นข้อพิพาทตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ของโจทก์ทั้งสิบเก้าต่อไป แสดงว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้แล้วว่าฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าเคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสิทธิประโยชน์และคุณภาพของโจทก์ทั้งสิบเก้า คำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และให้เพิกถอนใบอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายถึงการทำละเมิด ค่าเสียหายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าเท่าใดก็มิใช่ข้อสำคัญ เพราะโจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าทำละเมิด ทำให้โจทก์ทั้งสิบเก้าเสียหายโดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องขอให้ปรับปรุงหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิม แม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายว่าสภาพเดิมตามธรรมชาติของหาดมาหยาเป็นอย่างไร ถูกปรับเปลี่ยนอย่างไร อันเป็นเหตุให้น้ำ อาหาร อากาศ ชายหาด ต้นไม้ ภูเขา ระบบนิเวศน์ หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเสียหาย หรือเกิดมลพิษอย่างไรก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะโจทก์ทั้งสิบเก้าอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าจึงไม่เคลือบคลุมและชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าในข้อ 4 นั้น โจทก์ทั้งสิบเก้าต้องการให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยุติการถ่ายทำภาพยนตร์ทันที เพราะขณะโจทก์ทั้งสิบเก้ายื่นฟ้องนั้น ระยะเวลาที่ถ่ายทำภาพยนตร์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อระหว่างพิจารณาปรากฏว่าภาพยนตร์ได้ถ่ายทำเสร็จแล้วประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2542 คำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 3 ไม่อาจบังคับต่อไป และคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 ก็ดำเนินการเสร็จสิ้นจนจำเลยที่ 3 คืนหลักประกันคือหนังสือค้ำประกันธนาคารจำนวน 5,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 5 ไปแล้ว คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าข้อ 4 จึงตกไปด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็ได้ปรับปรุงหาดมาหยาให้เป็นไปตามสภาพเดิมแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ย้อนสำนวนไปสืบพยานตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 4 จึงไม่เป็นประโยชน์อีก เห็นว่า โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสิทธิประโยชน์และคุณภาพชีวิตของโจทก์ทั้งสิบเก้า โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาโต้เถียงว่าได้ปรับปรุงหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมจนจำเลยที่ 3 คืนหลักประกัน หนังสือค้ำประกันธนาคารให้แก่จำเลยที่ 5 แล้ว จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงกันอยู่ว่า การถ่ายทำภาพยนตร์ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และจำเลยทั้งห้าได้ปรับปรุงแก้ไขให้กลับคืนตามสภาพเดิมแล้วหรือไม่ ซึ่งควรต้องฟังยุติให้ชัดเจนก่อน ส่วนการคืนหลักประกันให้ ไม่ได้แสดงว่าได้ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนตามสภาพเดิมตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงขัดต่อเหตุผลความเป็นจริง ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในข้อ 1 ถึง 3 ซึ่งในข้อ 1 ว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์บริเวณอ่าวมาหยาหมู่เกาะพีพี เป็นโมฆะ เพราะเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อ 2 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันวางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่วางเงินประกัน ให้ศาลมีคำสั่งห้ามกระทำการใด ๆ เพื่อกระทำการปรับปรุง ตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยา และในข้อ 3 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าทำการถ่ายทำภาพยนตร์บริเวณชายหาดมาหยานั้นเป็นประโยชน์ที่ศาลต้องพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปไม่ชอบนั้น เห็นควรวินิจฉัยข้อ 2 ก่อนว่า มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปหรือไม่ เห็นว่า คำขอในข้อนี้เป็นคำขอห้ามมิให้ฝ่ายจำเลยกระทำการใดเพื่อกระทำการปรับปรุง ตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยา หากไม่วางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้กระทำการปรับปรุงตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยาไปแล้ว และได้ถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จเรียบร้อยทั้งได้ออกไปจากบริเวณอ่าวมาหยาแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งให้จำเลยทั้งห้าปฏิบัติตามคำขอข้อ 2 นี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคำขอข้อ 2 อีกต่อไปนั้น ชอบแล้ว
ส่วนคำขอให้วินิจฉัยคำสั่งในข้อ 1 และข้อ 3 นั้น เห็นว่า แม้คำสั่งทางปกครองที่เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนได้ แต่สำหรับคดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์บริเวณอ่าวมาหยาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนก็เพื่อมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในบริเวณหาดมาหยา แต่เมื่อจำเลยที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ตามใบอนุญาตเสร็จเรียบร้อยจนนำออกฉายทั่วโลกแล้ว การเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ดังนั้นคำขอข้อ 1 และข้อ 3 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share