คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการที่ไม่ทำตามแบบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จะตกเป็นโมฆะ แต่ในสัญญาข้อ 24 ยังมีข้อความอีกว่า หากสัญญานี้ข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะหรือไม่อาจบังคับได้ ให้ถือว่าสัญญาข้ออื่นยังคงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับต่อไปได้ เห็นได้ว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะใช้ประโยชน์จากสัญญาข้ออื่นหรือต้องการให้มีผลบังคับได้แยกต่างหากจากข้อสัญญาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ตกเป็นโมฆะ การที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตกเป็นโมฆะจึงไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินฐานผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจำนวน 3,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “ซึทาญ่า” ซึ่งโจทก์ได้แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องตามเอกสารท้ายคำฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องปรากฏข้อความตามสัญญา ข้อ 1 ให้คำจำกัดความของคำที่สำคัญซึ่งใช้ในสัญญานี้คือ คำว่า “ระบบของผู้ให้อนุญาต (จำเลย)” หมายถึง “แผนทางธุรกิจ วิธีการทางธุรกิจ การจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลคอมพิวเตอร์ เครื่องหมายที่เหมาะสมข้อมูลของผู้ให้อนุญาต” คำว่า “สิทธิที่อนุญาต” หมายถึง “รูปแบบและคุณลักษณะเฉพาะของชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้ารวมทั้ง “ซึทาญ่า” และเครื่องหมายอื่นตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญา A การให้สีร้าน การวางผังร้าน การก่อสร้าง ออกแบบ ตกแต่งร้าน และชื่อทางการค้าเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้า สัญลักษณ์ทางการค้า ป้ายคำขวัญที่ผู้ให้อนุญาตมีอยู่แล้วในปัจจุบันและที่จะได้ปรับปรุงหรือกำหนดขึ้นใหม่ในอนาคตเพื่อใช้กับระบบของผู้ให้อนุญาต” และในสัญญาข้อ 2 ระบุถึงการให้สิทธิว่า “a. สิทธิในการเป็นเจ้าของดำเนินกิจการและบริหารร้านโดยใช้ระบบของผู้ให้อนุญาตและสิทธิที่อนุญาต” ดังนั้น ย่อมเห็นได้ว่า สิทธิและสิ่งต่างๆ ที่จำเลยในฐานะผู้ให้อนุญาตได้อนุญาตให้โจทก์ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าแสวงหากำไรของโจทก์มีหลายประการหลายประเภท ไม่ใช่เป็นการอนุญาตให้ใช้แต่เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการโดยเฉพาะแต่อย่างใด และโดยเฉพาะคำว่า “ซึทาญ่า” ก็ยังมีลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าที่จำเลยทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์นำไปใช้หาประโยชน์ได้เช่นกันด้วยและในบรรดาสิทธิและสิ่งที่จำเลยให้ประโยชน์แก่โจทก์ตามสัญญานี้ก็มีเฉพาะสิทธิที่เป็นเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการที่มีการจดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้นที่มีพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 บัญญัติบังคับให้การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังนี้ แม้ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ไม่ทำตามแบบแห่งบทกฎหมายดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้โดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในสัญญาข้อ 24 ก็ยังมีข้อความอีกว่า หากสัญญานี้ข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะหรือไม่อาจบังคับได้ ให้ถือว่าสัญญาข้ออื่นยังคงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับต่อไปได้ เมื่อพิจารณาข้อสัญญาข้อต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นได้ชัดว่าการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเป็นเงื่อนไขการให้สิทธิเพียงข้อหนึ่งในบรรดาสิทธิและสิ่งอื่นๆ หลายประการที่จำเลยต้องให้ประโยชน์แก่โจทก์ รวมทั้งการอนุญาตให้ใช้คำว่า “ซึทาญ่า” ในลักษณะเป็นชื่อทางการค้าด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบสัญญาข้อ 24 ดังกล่าวด้วยแล้วย่อมแสดงว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะใช้ประโยชน์จากข้อสัญญาอื่นหรือต้องการให้มีผลบังคับได้แยกต่างหากจากข้อสัญญาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ตกเป็นโมฆะ การที่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตกเป็นโมฆะ จึงไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยห้าม โต้แย้งหรือขัดขวางการใช้ประโยชน์จากสิทธิหรือสิ่งต่างๆ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “ซึทาญ่า” ของโจทก์เพื่อหาประโยชน์แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “ซึทาญ่า” ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โดยยังมีส่วนที่มีผลใช้บังคับได้และจำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมเข้าทำสัญญาแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share