คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำรถยนต์ที่จำเลยเช่ามาให้ทำงานของจำเลยขับพาภริยาและบุตรของโจทก์ไปเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายอย่างมาก เป็นการนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในการทำงานได้ ขับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้จำเลยไม่มีรถยนต์ใช้ปฏิบัติงานนานถึง 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ จึงจะเป็นการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอขอรับชำระหนี้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขจำกัดตัดสิทธิอื่น ๆ อันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบโจทก์ย่อมปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในหนี้เงินค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ของเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยยอมจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงไม่ถือว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง ให้แก่โจทก์ แต่พออนุโลมได้ว่าโจทก์ขอให้จ่ายดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาด้วย เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2541 ในตำแหน่งพนักงานสโตร์ ครั้งสุดท้ายเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานเอชดับเบิลยูโอ ได้รับเงินเดือนเดือนละ 34,320 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันหยุดงานประจำปี โจทก์ขับรถยนต์กระบะโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ปต.6397 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยเช่ามาให้โจทก์ใช้ประจำตำแหน่ง พาภริยาไปเที่ยวที่อำเภอสะเอา จังหวัดสงขลา เมื่อถึงอำเภอสะเดาได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ที่โจทก์ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่แล่นสวนทางมาได้รับความเสียหายต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดร้ายแรง เนื่องจากนำรถไปทำธุระส่วนตัวจนทำให้ได้รับความเสียหาย โดยให้มีผลในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หนังสือเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์กระทำผิดไม่ร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 205,920 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 68,640 บาท เงินเดือนของเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ค่าโบนัสและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเป็นเงิน 18,411.73 บาท และให้ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน ของต้นเงิน 292,971 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มีรถยนต์ประจำตำแหน่งตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด รถยนต์กระบะโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ปต.6397 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์ซึ่งจำเลยเช่ามาเพื่อใช้ในกิจการและการดำเนินงานของจำเลย โดยพนักงานรวมถึงโจทก์สามารถนำไปใช้ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นการใช้ในการทำงานของจำเลยและจะต้องใช้ระหว่างเวลาการทำงานของจำเลยในแต่ละวันโจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ไปใช้นอกเหนือจากการทำงานได้ โจทก์นำรถยนต์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจำเลย โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนบอกกล่าวล่วงหน้าตลอดจนเงินเพิ่มแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์นำรถยนต์อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยออกไปใช้ธุระส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวกับการทำงานให้จำเลย แล้วเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย ทำให้จำเลยไม่มีรถยนต์ใช้ การกระทำของโจทก์เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และถือเป็นการทำผิดร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แต่จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 จำนวน 8,580 บาท โบนัสตามสัดส่วนของระยะเวลาทำงานในปี 2546 จำนวน 3,527.37 บาท และเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 9,152 บาท รวมเป็นเงิน 21,259.33 บาท หักเงินประกันสังคม 600 บาท และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2,247.60 บาท คงเหลือ 18,411.73 บาท จำเลยทำหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ยอมรับถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 18,411.73 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ พิเคราะห์ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.5 บทที่ 8 วินัยโทษทางวินัยและการพักงาน ข้อ 1.4.3 ระบุว่า “พนักงานต้องไม่นำอุปกรณ์หรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้นอกเหนือจากการทำงานให้แก่บริษัทฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา” เห็นว่า โจทก์ได้นำรถยนต์ที่จำเลยเช่ามาให้ทำงานของจำเลย ขับพาภริยาและบุตรของโจทก์ไปเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายอย่างมากตามภาพถ่ายหมาย ล.1 นั้น เป็นการนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในการทำงานได้ ขับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่มีรถยนต์ใช้ปฏิบัติงานนานถึง 2 สัปดาห์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสุดท้าย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า โจทก์ไปขอรับเงินค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลย แต่จำเลยบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.3 ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ จากจำเลยอีก โจทก์จึงไม่ยอมรับเงินดังกล่าว เพราะเป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัด จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด” เมื่อพิเคราะห์หนังสือที่จำเลยแจ้งให้โจทก์รับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.3 แล้ว ด้านล่างมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้ทำการตรวจสอบและเห็นว่าถูกต้องทุกประการ ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ จากบริษัทอีก จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน” เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง จึงจะเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขจำกัดตัดสิทธิอื่น ๆ อันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลย โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามกำหนดจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในหนี้เงินค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเฉพาะเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ให้แก่โจทก์ ก็พออนุโลมว่าโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดมาด้วย เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานจึงเห็นสมควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และเมื่อจำเลยยอมจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงไม่ถือว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง ให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินค่าจ้างค้างจ่าย นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

Share