คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก เป็นผู้คุมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งภายในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ตั้งด่านตรวจที่ริมถนนทางเข้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายเป็นความผิดแล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก พบสุกรบรรทุกมาโดยไม่มีใบอนุญาตก็ขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดฐานกรรโชก โดยความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก มีเจตนาและกระทำการคนละขั้นตอนกับความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 145, 310, 337 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสุกร จำนวน 10 ตัว ราคา 3,000 บาท ที่ไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 145, 337 (2) เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ของผู้อื่นโดยมีอาวุธปืนติดตัวมาขู่เข็ญ จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนสุกร จำนวน 10 ตัว หรือใช้ราคาเป็นเงิน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคหนึ่ง, 337 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันกรรโชก จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวก ซึ่งเป็นผู้คุมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งภายในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ตั้งด่านตรวจที่ริมถนนทางเข้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทำการตรวจค้นผู้เสียหายทั้งสอง โดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว เมื่อพบว่าผู้เสียหายทั้งสองใช้รถยนต์กระบะบรรทุกสุกรมาโดยไม่มีใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายจึงร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง โดยขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีฐานเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ผู้เสียหายทั้งสองไม่มีเงินจึงยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกนำสุกรของผู้เสียหายทั้งสองไปขายและยอมมอบเงินที่ขายสุกรได้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกไปจำนวน 20,000 บาท กับยอมให้เอาสุกรที่เหลือไป (พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์) ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก เนื่องจากยังไม่มีการข่มขืนใจและผู้ถูกข่มขืนใจไม่ได้มอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากความกลัวว่าจะได้รับอันตรายต่อเสรีภาพนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้กระทำการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสองว่าจะส่งผู้เสียหายทั้งสองแก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งต่อมาผู้เสียหายทั้งสองก็ได้มอบเงินที่ได้จากการขายสุกรให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียวไม่ใช่หลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดแล้วหนึ่งกรรม เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกพบสุกรบรรทุกมาโดยไม่มีใบอนุญาตก็ขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง เป็นความผิดฐานกรรโชก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก มีเจตนาและกระทำการคนละขั้นตอนกับความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน และฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกที่ตั้งจุดตรวจค้นและเมื่อผู้เสียหายทั้งสองขับรถบรรทุกผ่านมาก็แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายทั้งสอง เป็นการแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share