แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่ (3) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ” เช่นนี้ การอุทธรณ์คำสั่งในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 24 วรรคสองดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. ว่าด้วยการฎีกา เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นนี้ไม่เกินสองแสนบาท ประกอบกับอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในปัญหาว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้หรือไม่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 และไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 วรรคสี่ อีกด้วย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เบี้ยประกันภัยค้างชำระจำนวน 63,500.60 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ปรากฏว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เจ้าหนี้รายที่ 25 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้นำมาให้การสอบสวนฟังไม่ได้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามมาตรา 107 (1) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2547 กรณีจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ซึ่งวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายเว้นแต่
(3) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
” เช่นนี้ การอุทธรณ์คำสั่งในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 24 วรรคสอง (3) จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. ว่าด้วยการฎีกา เมื่ออุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นนี้ไม่เกินสองแสนบาท อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในปัญหาว่าลูหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้หรือไม่เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 และศาลฎีกาพิจารณาแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 วรรคสี่ แต่อย่างใด
พิพากษายกอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ ค่าทนายความให้เป็นพับ