แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มฤดกอายุความ สัญญา การแปลสัญญา ประมวลแพ่ง ม.10
ย่อยาว
คดีนี้อัยการว่าความแทนขุนวิศาลฯบุตร์ซึ่งฟ้องเรียกทรัพย์มฤดกของมารดาจากจำเลยซึ่งเปนบิดา ประเด็นในชั้นฎีกามีว่า
(๑) ฟ้องขอโจทย์จะขาดอายุความฤาไม่
(๒) ขุนวิศาลฯได้ทำสัญญาให้แก่จำเลยว่าจะไม่ฟ้องเรียกมฤดกของนางเป้ามารดาจากจำเลยอีก สัญญานั้นจะใช้ได้เพียงไร
ทางพิจารณาได้ความว่า นางเป้ามารดาตายเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๒๓ ในเวลานั้นขุนวิศาลฯมีอายุ ๒๖ ปี แลรับราชการอยู่ต่างจังหวัด ขุนวิศาลฯได้ลงมาช่วยจัดการปลงศพแลบวชเปนพระภิกษุ เมื่อสึกแล้วก็อยู่กับจำเลย แลกลับขึ้นไปรับราชการ เมื่อขุนวิศาลฯลงมากรุงเทพฯก็พักที่บ้านจำเลย จน ร.ศ. ๑๓๑ ขุนวิศาลขอเงินจำเลย ๕๐ ชั่ง เพื่อเอาไปแต่งงาน ในชั้นต้นจำเลยไม่ให้ ต่อมาจำเลยให้เงินจำนวนนั้น แลขุนวิศาลฯได้ทำสัญญาให้จำเลยว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปเมื่อน่า กระผมจะไม่เกี่ยวข้องในทรัพย์สมบัติของคุณพ่ออีกต่อไป ถึงแม้คุณพ่อจะเอาทรัพย์สมบัติยกให้กับใครก็ดี กระผมจะไม่ฟ้องร้องเลยเปนอันขาด” ครั้นขุนวิศาลฯแต่งงานแล้วสัก ๒-๓ ปีก็กลับมาอยู่กับจำเลยอีก ต่อมาจำเลยเกิดไม่ถูกอัทธยาศรัยกับขุนวิศาลฯ เพราะขุนวิศาลฯสูบฝิ่นกินเหล้าแลวิวาทกับคนในบ้าน ถึงกับตัดพ่อตัดลูกกันแลฟ้องขับไล่ขุนวิศาลออกจากบ้าน
ฎีกาตัดสินว่า (๑) ขุนวิศาลฯกับจำเลยได้ปกครองทรัพย์รวมกันมา ยังไม่ขาดอายุความมฤดก ๑ ปี (๒) ในสัญญามีข้อความแสดงอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้จำเลยจะเอาทรัพย์ไปยกให้แก่ผู้ใด ขุนวิศาลฯก็จะไม่ฟ้องร้องเปนอันขาด สัญญาข้อนี้กินความถึงทรัพย์ซึ่งเปนส่วนของขุนวิศาลฯจะเรียกเอาจากจำเลยอีกด้วย มิฉนั้นแล้วสัญญานั้นไม่เปนประโยชน์แก่จำเลยเลย เพราะทรัพย์ส่วนของจำเลยไม่จำเปนที่จำเลยจะต้องไปทำสัญญาแก่ขุนวิศาลฯผู้เปนบุตร์ จำเลยจะเอาไปยกให้ใครก็ได้ เมื่อข้อความข้อ ๑ ข้อใดในเอกสารอาจตีความได้เปน ๒ นัย ๆ ไหนจะทำให้เปนผลบังคับได้ท่านให้ถือเอานันนั้นดีกว่า ที่จะถือเอานั้นที่ไร้ผลนอกจากนั้นสัญญายังแสดงความเปนปรปักษ์แก่ขุนวิศาลฯว่าจำเลยไม่ยอมแบ่งทรัพย์ให้ เพราะฉนั้นขุนวิศาลฯจะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ในคดีนี้โจทย์ฟ้องเกิน ๑๐ ปี