แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญา ความรับผิดชอบ นายประกัน ลูกณี่ล้มละลาย
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชอบตามสัญญาประกัน โดยอ้างว่าลูกณี่ที่จำเลยประกันนั้นล้มละลายศาลล่าง ๒ ศาลตัดสินให้จำเลยใช้ จำเลยที่ ๑ ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพ ฯ ว่า จำเลยเปนประกันในราคาหลักทรัพย์ที่วางเปนประกันเท่านั้น แลเรื่องนี้เมื่อผู้จำนำล้มละลาย โจทย์ไม่ได้พิศูจน์ณี่ในกองล้มละลาย เปนการปล่อยให้ลูกณี่พ้นจากความรับผิดชอบไป จำเลยจึงควรพ้นจากความรับผิดชอบไปด้วย เพราะจำเลยไม่มีโอกาศจะไปไล่เบี้ยเอาแก่ลูกณี่ตามตัวอย่างฎีกาที่ ๑๓๔/๑๒๘ แล ๔๑๘/๑๓๐ แลเมื่อเจ้าณี่ยึดทรัพย์เหล่านี้ โจทย์มิได้คัดค้าน แลความในสัญญาข้อ ๒ ที่ว่า “ท่านจะต้องการต้นเงินแลดอกเบี้ยเมื่อใดก็ดี ข้าพเจ้าผู้รับประกันทั้งนี้ยอมรับใช้ต้นเงินแลดอกเบี้ยให้ท่านจงเต็ม” นั้นไม่เกี่ยวข้องแก่จำเลยเพราะมีชื่อตัวผู้กู้เปนประกันอยู่ด้วยเหมือนกัน
ฎีกาตัดสิน ฟังข้อเท็จจริงเชื่อคำโจทย์ว่า
๑. เรื่องนี้โจทย์ไม่เคยได้หลักทรัพย์ที่กล่าวในสัญญาจำนำมายึดถือไว้ในมือเลย ในสัญญาเปนแต่กล่าวไว้เฉย ๆ แลสัญญาจำนำก็ไม่ได้ทำกันต่อหน้าเจ้าพนักงาน เปนที่รู้กันอยู่แล้วระหว่างโจทย์ จำเลย จำเลยก็ไม่ได้เถียงแลขาดนัดไม่มาศาลในวันพิจารณา ส่วนในข้อกฎหมาย การจำนำทรัพย์เคลื่อนที่ได้ เมื่อทรัพย์ไม่ได้อยู่ในความยึดถือของเจ้าณี่แลการจำนำทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้โดยไม่ทำสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายฉนี้ (ในสัญญาจำนำได้กล่าวจำนำกันทั้งทรัพย์เคลื่อนที่ได้แลไม่ได้) ไม่ถือว่าเป็นการจำนำ แลเมื่อไม่ถือว่าเป็นการจำนำแล้วจะถือว่าโจทย์เปนเจ้าณี่มีหลักทรัพย์เปนประกันไม่ได้ โจทย์เปนเจ้าณี่ธรรมดาเท่านั้น แลจำเลยเป็นนายประกันในจำนวนณี่
๒. ในข้อที่จำเลยว่าลูกณี่ล้มละลาย โจทย์ไม่พิศูจน์ณี่ต้องถือว่าเปนการปล่อยณี่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องนี้มีหลักกฎหมายตรงกันข้ามกับที่จำเลยกล่าว คือตัวจำเลยเองผู้เปนนายประกันอาจจะพิศูจน์ณี่ในกองล้มละลายของลูกณี่ได้ ถึงแม้นายประกันจะยังไม่ได้ใช้ณี่ให้แก่เจ้าณี่แทนลูกณี่ก็ตาม ก็ยังพิศูจน์ขอเฉลี่ยได้ (Halsburry Vol. ๒. art ๓๓๐ and note) เมื่อหลักกฎหมายมีอยู่เช่นนี้แล้ว จึงเปนการที่ไม่มีมูลที่จะเห็นว่าโจทย์ได้ปล่อยณี่เพราะเหตุไม่พิศูจน์ณี่ เพราะถ้าเปนการปล่อยณี่แล้ว นายประกันก็พิศูจน์ไม่ได้ แลเมื่อถือว่าโจทย์ไม่ได้ปล่อยณี่แล้ว คดีตัวอย่างที่จำเลยอ้างมานั้น ก็ไม่ช่วยคดีของจำเลย
๓. ที่จำเลยว่า โจทย์ปล่อยให้เจ้าณี่ยึดหลักทรัพย์ที่เป็นประกันไปเสียหมด ในข้อนี้หลักทรัพย์อันกล่าวในสัญญาว่าเปนประกันนั้น ไม่ได้มีหนังสือจำนำตามกฎหมาย แลส่วนทรัพย์เคลื่อนที่ได้ก็ไม่ได้ตกมาถึงมือโจทย์เลย แลเปนที่รู้กันอยู่แล้วระหว่างโจทย์จำเลยดังนี้ จะถือว่าโจทย์ได้ปล่อยหลักทรัพย์ให้แก่คนอื่นให้เปนการเสียหายแก่จำเลยไม่ได้ เพราะโจทย์ไม่มีทางที่จะขัดขวางอย่างไรได้
๔. ที่จำเลยว่าตามสัญญาข้อ ๒ ไม่หมายความถึงตัวจำเลยด้วยนั้น กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจดูสัญญาข้อ ๒ ได้ความว่า “ข้อ ๒. ข้าพเจ้าพระยาเจริญราชไมตรี นายสวัสดิ์ภักดี ขุนสุนทรฯ ขุนจำนงค์จินารักษ์ ขอรับประกันว่า ถ้าเรือนแลตึกที่กล่าวแล้วในข้อ ๑ นั้น ต้องอันตรายด้วยภัยอย่างใด ๆ ก็ดี ฤามีราคาไม่พอกับต้นเงินแลดอกเบี้ยก็ดี ฤาท่านจะต้องการต้นเงินแลดอกเบี้ยเมื่อใดก็ดี ข้าพเจ้าผู้ประกันทั้งนี้ยอมใช้ต้นเงินแลดอกเบี้ยให้ท่านจงเต็ม”ข้อความปรากฏอยู่ดังนี้ จำเลยจะเถียงว่าไม่กินความถึงตัวจำเลยนั้น เปนการเถียงฝืนตัวหนังสือสัญญา ซึ่งไม่สามารถจะรับฟังได้ จึงพิพากษาให้จำเลยรับผิดชอบตามสัญญาประกันใช้ต้นเงินแลดอกเบี้ยรายนี้ให้โจทย์ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ ที่พิพากษาให้จำเลยรับผิดชอบนั้น