แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 ซึ่งกระบวนการการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินทั้งสองกรณีกฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกันโดยแยกต่างหากจากกัน ทั้งขั้นตอนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินหรือร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 และ 30 ก็มีความแตกต่างกันคือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 จะต้องมีการปิดประกาศไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างน้อยเจ็ดวันและให้ประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีแพร่หลายในท้องถิ่น ส่วนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น ไม่ต้องมีการปิดประกาศในที่ใด ๆ แต่ต้องมีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน นอกจากนี้การขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 นั้น ผู้เป็นเจ้าของสามารถร้องขอคืนได้ก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
“(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ”
ส่วนการร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 30 ผู้เป็นเจ้าของจะต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และศาลจะสั่งริบได้เมื่อปรากฏว่าเจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะบรรทุกขนส่งและซื้อขายยาเสพติดให้โทษจึงขอให้ริบรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถยนต์ จำนวน 2 ชุด ของกลางตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินในคดีนี้จึงเป็นการร้องขอตามมาตรา 30 ดังนั้น กระบวนการที่ศาลจะต้องไต่สวนและมีคำสั่ง จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 30 หาใช่มาตรา 29
พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถจำนวน 2 ชุด ของกลาง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอคืนของกลาง และไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดอีกต่อไปหรือไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะ จำนวน 1 คัน พร้อมกุญแจรถ จำนวน 2 ชุด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง ดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันหมายเลขทะเบียน ลย-5162 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คัน พร้อมกุญแจรถ จำนวน 2 ชุด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้ออีริคสัน หมายเลข 01-3808589 จำนวน 1 เครื่อง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามคำร้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย. 862/2545 ของศาลชั้นต้นซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน ลย-5162 กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจรถ จำนวน 2 ชุด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านเป็นประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้งเลยว่ารถยนต์กระบะของกลางไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจให้ผู้กระทำความผิดนำรถยนต์กระบะของกลางมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลก็ไม่อาจคืนรถยนต์กระบะของกลางให้ผู้คัดค้านได้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 (1) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะของกลางหรือไม่ นั้นมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีนี้เป็นการริบทรัพย์และยื่นคำขอคืนทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 29 (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์กล่าวอ้างแต่อย่างใด เห็นว่า ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 จะเห็นได้ว่า กระบวนการการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 และมาตรา 30 แตกต่างกัน โดยกฎหมายแยกไว้ต่างหากจากกัน ทั้งขั้นตอนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินหรือร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 และ 30 ก็มีความแตกต่างกัน คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 จะต้องมีการปิดประกาศไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างน้อยเจ็ดวันและให้ประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีแพร่หลายในท้องถิ่น ส่วนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น ไม่ต้องมีการปิดประกาศในที่ใด ๆ แต่ต้องมีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน นอกจากนี้การขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 นั้น ผู้เป็นเจ้าของสามารถร้องขอคืนได้ก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
“(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ” ส่วนการร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 30 ผู้เป็นเจ้าของจะต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสัง และศาลจะสั่งริบได้เมื่อปรากฏว่าเจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะบรรทุกขนส่งและซื้อขายยาเสพติดให้โทษจึงขอให้ริบรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถยนต์ จำนวน 2 ชุดของกลาง ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินในคดีนี้จึงเป็นการร้องขอตามมาตรา 30 ดังนั้น กระบวนการที่ศาลจะต้องไต่สวนและมีคำสั่ง จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 30 หาใช่มาตรา 29
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการสุดท้ายว่า จะต้องคืนรถยนต์กระบะของกลางพร้อมกุญแจรถ จำนวน 2 ชุด ของกลาง ให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถ จำนวน 2 ชุด ของกลาง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอคืนของกลางดังกล่าวและไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดอีกต่อไปหรือไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.