คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสอง (2) ที่แก้ไขใหม่ แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ สำหรับความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน บทความผิดสำหรับความผิดทั้งสองฐานจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้เป็นการมิชอบ คดีนี้ 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายไปมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 20 กรัม ความผิดทั้งสองฐานต้องด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา 66 วรรคสอง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งกรณีโทษจำคุกเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิมตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ส่วนโทษปรับตามกฎหมายเดิมมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3
ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอสำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกและปรับ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยเช่นกัน เพราะในขณะจำเลยกระทำ ความผิดแม้มาตรา 66 วรรคหนึ่ง จะมีโทษจำคุกและปรับด้วย เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกโดยไม่ลงโทษปรับก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า เมื่อไม่ลงโทษปรับย่อมไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิม อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
คีตามีนของกลางซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 บัญญัติว่า “…ให้ริบเสียทั้งสิ้น” และ ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น…” บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ศาลสั่งริบวัตถุออกฤทธิ์ เป็นบทบังคับเด็ดขาด แม้โจทก์มิได้ขอให้ริบคีตามีนของกลาง แต่เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องแล้วว่า เจ้าพนักงานได้ยึดคีตามีนของกลางไว้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งริบคีตามีนของกลางได้
คดีอาญาของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษแก่จำเลยไว้นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ระยะเวลารอการลงโทษคือนับแต่วันที่พิพากษาเป็นต้นไป แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2545 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีดังกล่าว การกระทำความผิดของจำเลยคดีนี้ จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะนำโทษในคดีที่รอการลงโทษมาบวกเข้ากับโทษคดีนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13, 62, 89, 102, 106, 116 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8, 72, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 33, 58, 91 ริบยาเสพติดของกลางทั้งหมด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.11963/2545 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม, 66 วรรคสอง พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ป.อ. มาตรา 20, 33, 58 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนจำคุก 11 ปี และปรับ 400,000 บาท ความผิดฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายคีตามีนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 (ที่ถูก ความผิดฐานมีคีตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่ง เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และความผิดฐานขายคีตามีน เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน) ให้ลงโทษความผิดฐานขายคีตามีน จำคุก 18 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท ความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ความผิดฐานขายคีตามีน คงจำคุก 9 ปี ความผิดฐานมีอาวุธปืน คงจำคุก 6 เดือน และบวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ใน คดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้เป็น จำคุกจำเลยมีกำหนด 21 ปี 24 เดือน และปรับ 450,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 14 ปี และปรับ 500,000 บาท ความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี และปรับ 400,000 บาท ความผิดฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 24 ปี 8 เดือน และปรับ 900,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 ปี 4 เดือน และปรับ 450,000 บาท รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานขายคีตามีนอีก 9 ปี เป็นจำคุก 21 ปี 4 เดือน และบวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 21 ปี 10 เดือน และปรับ 450,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ สำหรับความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันบทความผิดสำหรับความผิดทั้งสองฐาน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ตามกฎหมายที่ แก้ไขใหม่และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ยังเป็นการมิชอบ สำหรับคดีนี้ 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมท แอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 11.891 กรัม และจำหน่ายไปมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 6.958 กรัม ซึ่งไม่เกิน 20 กรัม ความผิดทั้งสองฐานต้องด้วยบทกำหนดโทษใน มาตรา 66 วรรคสอง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งกรณีโทษจำคุกเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิมตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ส่วนโทษปรับตามกฎหมายเดิมตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลย มากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อพิเคราะห์ถึงจำนวน 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายแล้ว โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้น ยังหนักเกินไป และสำหรับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอสำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกและปรับไม่เป็นคุณแก่จำเลยเช่นกัน เพราะในขณะจำเลยกระทำความผิด แม้มาตรา 66 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงโทษแต่โทษจำคุกก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 20 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า คดีนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับตาม ป.อ. มาตรา 20 และเมื่อไม่ลงโทษปรับจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิม ปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จะยุติโดยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
นอกจากนี้เกี่ยวกับคีตามีนของกลางซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 บัญญัติว่า “บรรดาวัตถุออกฤทธิ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่น ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น” เมื่อคีตามีนถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และ ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่” บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวทั้งที่เป็น บทเฉพาะและบททั่วไปมีความสอดคล้องต้องกัน แสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้ศาลสั่งริบวัตถุออกฤทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียทั้งสิ้น ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ริบคีตามีนของกลางซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์มาในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้วว่าเจ้าพนักงานได้ยึดคีตามีนของกลางไว้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งริบคีตามีนของกลางได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เช่นเดียวกัน
อนึ่ง คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 11963/2545 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุกจำเลยที่รอการ ลงโทษไว้ในคดีนี้นั้น คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ระยะเวลารอการลงโทษคือนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันพิพากษาเป็นต้นไป มีกำหนด 2 ปี แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2545 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีดังกล่าว การกระทำความผิดของจำเลยคดีนี้ จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษมาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย และความผิดฐานจำหน่าย จำหน่าย 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ความผิดฐานมี 3,4- เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี ความผิดฐานจำหน่าย 3,4- เมทิลลีน ไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จำคุก 8 ปี ความผิดฐานขายคีตามีน จำคุก 15 ปี รวมจำคุก 33 ปี โดยไม่ลงโทษปรับ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี 6 เดือน รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีอาวุธปืนตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์อีก 4 เดือน เป็นจำคุก 16 ปี 10 เดือน ให้ยกคำขอให้บวกโทษ ริบคีตามีนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share