คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยประสงค์จะทำสัญญาซื้อขายต่อไป แต่จำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาจำนอง โจทก์ไม่ได้รับเงินตามสัญญาจำนองและไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนอง ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนอง จำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาจำนองกระทำโดยชอบและสุจริต ไม่มีเหตุเพิกถอนตามคำคู่ความดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าการทำสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ทั้งปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตามคำคู่ความมีประเด็นเพียงว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองเพื่อประกันเงินกู้และโจทก์ได้รับเงินตามสัญญากู้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาจำนองที่ดินเป็นโมฆียะเพราะโจทก์กระทำโดยถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหรือไม่นั้น จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาตามประเด็นที่ถูกต้องศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันเงินกู้จำนวน 1,400,000 บาท โจทก์ไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมจำนองขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2232 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 21 เมษายน 2538
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2232 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 21 เมษายน 2538 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายสมบูรณ์ พรรษา ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเพราะเป็นนิติกรรมอำพรางเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ตามคำคู่ความดังกล่าวไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าการทำสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ทั้งปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง อนึ่ง ปัญหาที่ว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นโมฆียะเพราะโจทก์กระทำโดยถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหรือไม่นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามคำคู่ความมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองเพื่อประกันเงินกู้และโจทก์ได้รับเงินตามสัญญากู้หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่เนื่องจากคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ซึ่งตามปัญหาดังกล่าว โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2232 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 18 ไร่ ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2538 โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 รวมราคา 2,700,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 วางมัดจำเป็นเงิน 100,000 บาท ตามเช็คธนาคารนครธน จำกัด สาขาปากช่อง ที่เหลือตกลงชำระเป็นงวด งวดละ 500,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานที่ดิน อำเภอปากช่อง จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนที่จะซื้อที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินสอบถามโจทก์ว่าจะนำที่ดินมาจำนองหรือไม่ โจทก์แจ้งว่าโจทก์ประสงค์จะขายที่ดินเท่านั้น คำเบิกความของโจทก์มีเหตุผล และสอดคล้องกับสัญญาจะซื้อจะขายตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กระทำต่อกัน ซึ่งมีการชำระเงินบางส่วนแล้ว ตามเช็คแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะทำสัญญาซื้อขาย แม้ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นนิติกรรมจำนองนั้น ในเรื่องนี้ โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเอกสารมาให้โจทก์ลงชื่อ โดยโจทก์อ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งก็มีเหตุผลให้รับฟังเพราะตามใบมอบอำนาจที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างส่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความอันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความประสงค์จะทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น แต่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วยความเชื่อใจว่าจำเลยทั้งสองจะนำไปดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบโดยมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่าหลังจากที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว โจทก์มาพบจำเลยที่ 1 แจ้งว่าที่ดินอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนไม่อาจขายที่ดินได้ จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายแต่โจทก์ต้องการเงิน จำเลยที่ 1 จึงแนะนำให้โจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 2 โดยข้อนี้ จำเลยที่ 2 มีนายสุนทร รวยดี ทนายจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 มีอาชีพให้กู้ยืม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1 ไปติดต่อกู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 โดยทำสัญญากู้ยืมกันที่สำนักงานของนายสุนทร นายสุนทรเห็นว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์มีข้อกำหนดห้ามโอน จึงแนะนำว่าทำนิติกรรมให้ไม่ได้ แต่ให้ไปจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินแทนจริง ที่นายสุนทรเบิกความอ้างว่าโจทก์ประสงค์จะมากู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอน ทำนิติกรรมไม่ได้ นายสุนทรจึงแนะนำให้ไปทำสัญญาจำนองแทนนั้นคำเบิกความของนายสุนทรมีพิรุธและขัดเหตุผล เนื่องจากหากโจทก์ประสงค์จะทำสัญญากู้ยืมจากจำเลยที่ 2 จริง ก็ไม่มีข้อขัดข้องในการทำนิติกรรมเนื่องจากลักษณะของการทำนิติกรรมกู้ยืมกับจำนองสามารถกระทำได้ไม่ต้องห้าม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะมีข้อห้ามก็โดยการโอนขายที่ดินเท่านั้น เนื่องจากมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ นอกจากนี้คำเบิกความของนายสุนทรก็ยังขัดกับคำให้การจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การว่า โจทก์ทำสัญญากู้และจดทะเบียนจำนอง และขัดกับสัญญาจำนองที่ระบุว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ด้วย ยิ่งกว่านั้น ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าในวันจดทะเบียนจำนอง จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้ว โดยชำระเป็นเงินสดจำนวน 844,000 บาท และแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปากช่อง จำนวน 600,000 บาท แก่โจทก์ คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็ขัดเหตุผล เนื่องจากหากจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่โจทก์จริงก็น่าจะจัดทำเป็นแคชเชียร์เช็คมาทั้งหมด หรือชำระแก่โจทก์เป็นเงินสดไปทั้งหมด เพราะตามบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 มีการเบิกเงินสด เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันก่อนทำจำนอง จำนวน 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันทำจำนอง จำนวน 1,300,000 บาท โดยมาทำการเบิกที่อำเภอปากช่อง จึงไม่น่าจะจัดทำเป็นแคชเชียร์เช็คส่วนหนึ่งและชำระเป็นเงินสดมาอีกมาอีกส่วนอันก่อความยุ่งยากแก่ตัวจำเลยที่ 2 เองและโจทก์โดยไม่จำเป็น ทั้งไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าโจทก์ได้รับเงินสดและแคชเชียร์เช็คแต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยที่ 2 มีอาชีพปล่อยเงินกู้มีนายสุนทรเป็นทรายความคอยให้คำปรึกษา ส่วนที่จำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 มาเบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้รับเงินไปตามสัญญาจำนองแล้วโดยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ไปขึ้นเงินตามแคชเชียร์เช็คจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปากช่อง แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินจากธนาคารเพราะโจทก์ไม่เข้าใจแล้วโจทก์คืนเงินที่ได้รับให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาท โดยให้โจทก์นำเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินเป็นค่ามัดจำไว้นั้นไปขึ้นเงินเอง คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเองและขัดเหตุผล เพราะหากโจทก์ไม่เข้าใจการเบิกเงินตามแคชเชียร์เช็ค โจทก์ก็ย่อมไม่เข้าใจการขึ้นเงินตามเช็คด้วยเช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่เข้าใจในการเบิกเงินจากธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นที่จะให้โจทก์จะนำเช็คไปขึ้นเงินเอง โดยจำเลยที่ 1 ควรมอบเงินที่เบิกตามแคชเชียร์เช็คให้แก่โจทก์แล้วขอเช็คคืน ย่อมจะเป็นการสะดวกกว่า อนึ่งถ้าโจทก์ไปธนาคารกับจำเลยที่ 1 จริง ก็น่าจะให้โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในการรับเงินตามแคชเชียร์เช็ค เพราะแม้แต่เช็คก็ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินตามเช็ค พยานหลักฐานตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ว่าได้ทำสัญญาจำนองไปโดยชอบจึงมีพิรุธและขัดต่อเหตุผล ไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ทั้งมิได้รับเงินตามสัญญากู้ ส่วนการรับเงินตามเช็คนั้น เป็นการรับเงินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองที่ดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share