คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3071/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาสุขศึกษาทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาและมีอาการเหนื่อยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สั่งทำโทษผู้ตายซึ่งเป็นนักเรียนโดยให้ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์(กระโดดขึ้นลง) จำนวน 100 ครั้ง จึงเป็นการสั่งทำโทษที่เกินกว่าเหตุ ทั้งขณะที่ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์จำเลยที่ 1 ก็ไม่สนใจดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่า ผู้ตายจะรับการลงโทษดังกล่าวได้หรือไม่ และเมื่อผู้ตายทำสก็อตจัมพ์เสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ออกจากห้องเรียนไปโดยไม่สนใจดูแลว่าผู้ตายจะเป็นอย่างไร ผู้ตายมีอาการหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย
จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้าสอนในชั้นเรียนของผู้ตายและสั่งลงโทษผู้ตายจึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อ ความเสียหายนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 แต่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลจึงจัดอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มิใช่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ในชั้นรับคำฟ้องศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 320,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง 3,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ผู้ตายป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โจทก์ทั้งสองได้ให้พี่ชายผู้ตายนำ ใบรับรองแพทย์ไปแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบแล้วและยังบอกด้วยว่าผู้ตายออกกำลังกายไม่ได้จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสองแจ้งการป่วยของผู้ตายให้จำเลยที่ 1 และโรงเรียนบางปลาม้าสูงสุมารผดุงวิทย์ได้ทราบแล้ว การที่จำเลยที่ 1 สั่งทำโทษผู้ตายให้ทำสก็อตจัมพ์ถึง 100 ครั้ง ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทราบว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาและมีอาการ เหนื่อยง่ายจึงเป็นการสั่งทำโทษที่เกินกว่าเหตุ ทั้งขณะผู้ตายกับพวกทำสก็อตจัมพ์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่สนใจดูแลผู้ตาย อย่างใกล้ชิดเพื่อดูอาการว่าผู้ตายจะรับการลงโทษดังกล่าวได้หรือไม่ เมื่อผู้ตายทำสก็อตจัมพ์แล้วจำเลยที่ 1 ก็ออกจากห้องเรียนไปโดยไม่ได้สนใจดูแลว่าผู้ตายจะเป็นอย่างไร ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ผู้ตายถึงแก่ความตาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาสุขศึกษาได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณของแผ่นดินอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้าสอนในชั้นเรียนของผู้ตาย และสั่งลงโทษผู้ตาย จึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพิ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง 2,000 บาท .

Share