คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะแยกกันอยู่หรือหย่ากันในทางศาสนาอิสลาม ก็จะถือว่าโจทก์จำเลยขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วมิได้ เพราะมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาปรับใช้มิได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย จำเลยจึงฟ้องขอแบ่งสินสมรสมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีจำเลย ต่อมาจำเลยคบชู้ได้เสียกับชายอื่น โจทก์และจำเลยจึงตกลงเลิกเป็นสามีภริยากันตามหลักศาสนาอิสลามเมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๕๓๙ ขณะเป็นสามีภริยากันโจทก์ได้รับการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๒๕๙ เนื้อที่ ๑ งาน ๘๔ ตารางวา จากนายยะ มินซิน บิดาโจทก์ จึงเป็นสินส่วนตัว แต่จำเลยเก็บรักษาโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ โจทก์ทวงถามกลับไม่ยอมคืนให้ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๒๕๙ แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับตามฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งที่ดินแก่จำเลยครึ่งหนึ่ง หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า บิดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยเสน่หา ค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีสำหรับการซื้อขายและการให้มีจำนวนใกล้เคียงกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๒๕๙ ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แก่โจทก์ (ที่ถูกให้ยกฟ้องแย้งด้วย) ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์แบ่งที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๒๕๙ ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แก่จำเลยครึ่งหนึ่ง หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของโจทก์หรือเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย… พยานหลักฐานจำเลยสมเหตุสมผลมีน้ำหนักรับฟังได้ตามภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนายยะ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนสมรสต่อกัน แม้จะแยกกันอยู่หรือหย่ากันในทางศาสนาอิสลามตามที่โจทก์เบิกความไว้ ก็จะถือว่าโจทก์จำเลยขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วมิได้ เพราะการสิ้นสุดแห่งการสมรสมีเพียงความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนดังบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๑ เท่านั้น แม้โจทก์จำเลยจะเป็นอิสลามสาสนิก แต่มูลคดีมิได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จึงจะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ มาปรับใช้ให้รับฟังว่าโจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วยังมิได้ ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๓ เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย จำเลยจึงขอแบ่งสินสมรสมิได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ดินพิพาทมีราคา ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยต่อสู้ว่าเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยมีส่วนกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาสำหรับฟ้องโจทก์กับฟ้องแย้งจึงเท่ากับ ๑๕,๐๐๐ บาท และ ๑๕,๐๐๐ บาท ตามลำดับ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ ๖๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share