คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท คือ เงินชดเชยการเลิกจ้างซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย เงินทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกันตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข) เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2542 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษี 2542 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ ๓๐๑๔๔๐๐/๑/๑๐๐๖๐๐ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๓ ของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีทั้งสิ้น ๒๐๕,๐๙๘ บาท และให้ยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ. ๓ (อธ. ๔)/๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกให้ออกจากงานได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างและเงินจากทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเงินทั้งสองประเภทเป็นเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุที่โจทก์ถูกให้ออกจากงานแต่ได้รับเงินคนละปีภาษี โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินได้แต่ละประเภทมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายแบบบำเหน็จบำนาญตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๘ (๕) การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นพนักงานของบริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๕ จนถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ จึงถูกเลิกจ้าง บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑,๐๒๒,๘๒๕ บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ๔๐,๑๙๑ บาท ต่อมาวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โจทก์ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสซึ่งบริหารงานโดยธนาคารทหารไทย จำกัด จำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ๘๕,๘๘๕.๖๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๒ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของเงินชดเชยการเลิกจ้างโดยเลือกเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๘ (๕) ต่อมาวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท และเงินได้จากดอกเบี้ยจำนวน ๑๘๗,๙๗๖.๓๙ บาท โดยโจทก์เลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๕) แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์ได้เลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๕) ไปแล้วในปีภาษี ๒๕๔๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิชำระภาษีโดยวิธีดังกล่าวอีกตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเสียภาษีในเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสจำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท ที่ได้รับในปีภาษี ๒๕๔๒ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๘ (๕) ได้หรือไม่ เห็นว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๕) แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ มาตรา ๔๘ (๕) บัญญัติว่า ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (๑) และ (๒) ก็ได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) และ (๒) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด… ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) ดังนี้
… ข้อ ๑. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) และ (๒) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้
ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน…
ข้อ ๒. เงินได้พึงประเมินตามข้อ ๑ ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา ๔๘ (๕) แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้…
ข) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ ๑ จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภทผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๕) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น…
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน ๒ ประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างจำนวน ๑,๐๒๒,๘๒๕ บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) ข้อ ๑ (ค) โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ ประเภทที่สองเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท โดยจ่ายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) ข้อ ๑ (ข) ผู้ที่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย ดังนี้จะเห็นได้ชัดว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๕) แห่งประมวลรัษฎากรได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) ข้อ ๒ (ข) ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสจำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท ที่ได้รับในปีภาษี ๒๕๔๒ มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา ๔๘ (๕) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ ๓๐๑๔๔๐๐/๑/๑๐๐๖๐๐ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๓ ของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษี ๒๐๕,๐๙๘ บาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ. ๓ (อธ. ๔/๑/๒๕๔๔) ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม ๒,๐๐๐ บาท.

Share