แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขายเสาเข็มให้จำเลยมาหลายปี ในทางปฏิบัติเมื่อคิดบัญชีค่าเสาเข็มแล้ว จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าประมาณครึ่งเดือนให้แก่โจทก์ และภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสั่งจ่ายในเช็ค ถ้าจำเลยมีเงินสดจำเลยจะนำเงินไปแลกเช็คคืนจากโจทก์แต่คราวใดจำเลยมีเงินในบัญชีพอจ่าย จำเลยจะให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ แสดงว่าการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวทุกครั้งนั้น จำเลยมีเจตนาให้โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้เมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่ายในเช็ค ไม่ใช่เป็นเรื่องมอบเช็คให้เป็นหลักฐานหรือประกันหนี้ เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้เนื่องจากการซื้อเสาเข็มไปเรียกเก็บเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายจำเลยจึงมีความผิด
ความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 เกิดขึ้นทันทีที่ธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อความผิดเกิดขึ้นและโจทก์นำคดีมาฟ้องแล้วคดีจะระงับต่อเมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดย ถูกต้องตามกฎหมาย การชำระหนี้หรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่เป็นเหตุให้คดีระงับ
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุกจำเลยสำนวนแรก ๖ เดือน สำนวนที่สอง ๙ เดือน สำนวนที่สาม ๙ เดือนรวมสามสำนวนเป็นจำคุก ๒๔ เดือน จำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว ๒๑๘,๐๐๐ บาท เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๒ เดือน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนายสมนึก บรรเริงศรี เบิกความว่าเป็นผู้ขายเสาเข็มของโจทก์ให้แก่จำเลย ซึ่งเคยขายให้มานานประมาณ๕ ปีแล้ว จำเลยชำระราคาครบถ้วนมาโดยตลอด ครั้นเดือนสิงหาคม ๒๕๒๘จำเลยออกเช็คพิพาททั้งห้าฉบับให้โจทก์เพื่อชำระค่าเสาเข็ม เมื่อเช็คถึงกำหนดวันสั่งจ่ายเงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินไม่ได้จึงทวงถาม จำเลยก็ไม่ชำระเงินให้ อ้างว่ายังไม่มีเงินเพราะเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ นายสมนึกยืนยันว่าได้ขายเสาเข็มให้จำเลยและตอกเสาเข็มให้จนเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงคิดบัญชีกัน เมื่อคิดบัญชีเสร็จจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง ๕ ฉบับมอบให้โจทก์ ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความรับว่าเคยซื้อเสาเข็มจากโจทก์มานาน ๕-๖ ปีแล้ว ในทางปฏิบัติเมื่อคิดบัญชีค่าเสาเข็มเรียบร้อย จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าประมาณครึ่งเดือนให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน และภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สั่งจ่ายในเช็ค ถ้าจำเลยไม่นำเงินมาชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีเท่ากับธนาคาร เห็นว่า แม้ว่าจำเลยจะนำสืบว่าถ้าจำเลยมีเงินสดจำเลยจะนำเงินไปแลกเช็คคืนจากโจทก์แต่นายสมพงษ์บุตรจำเลยก็รับว่าคราวใดจำเลยมีเงินในบัญชีพอจ่ายจำเลยก็จะสั่งให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ แสดงให้เห็นว่าในการจ่ายเช็คค่าเสาเข็มมอบให้กับโจทก์ทุกครั้งนั้นจำเลยมีเจตนาให้โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจาก ธนาคารได้เมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่ายในเช็ค จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักฐานหรือประกันหนี้ดังจำเลยต่อสู้แต่ประการใดส่วนการ ที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำเงินสดมาแลกเช็คคืนไป โดยไม่ดำเนินคดีกับจำเลยนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยอมผ่อนผันให้แก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาททั้ง ๕ ฉบับไปเรียกเก็บเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายและบัญชีปิดแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีได้เพราะหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๕ ฉบับระงับเพราะโจทก์กับนายสมพงษ์บุตรจำเลยได้ทำสัญญาประนอมหนี้ตามเอกสารหมาย ล.๑ โดยนายสมพงษ์ยอมชำระหนี้แทนจำเลย จึงเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙และมาตรา ๓๕๐ นั้น เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ นั้นความผิดเกิดขึ้นทันทีที่ธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น เมื่อความผิดเกิดขึ้นและโจทก์นำคดีมาฟ้องแล้ว คดีจะระงับต่อเมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย การชำระหนี้หรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้หาเป็นเหตุให้คดีระงับไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อคำนึงถึงอายุของจำเลยซึ่งมีอายุมากแล้วประกอบกับสภาพความผิด สมควรรอการลงโทษจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์