คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอ้างว่ามีหนังสือของนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเรื่องราษฎรเข้าทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการกระทำผิด เมื่อจำเลยทราบข้อความตามหนังสือของนายกรัฐมนตรีหลังที่เกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจตามหนังสือฉบับนั้นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด การที่หนังสือดังกล่าวไม่ให้เอาผิดราษฎรที่เข้าทำไร่นาในป่าสงวนอยู่ก่อนแล้ว และถ้าถูกเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังไว้ก็ให้ปล่อยตัวไปนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยก็ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟองว่า จำเลยได้บังอาจร่วมกันเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าห้วยขมิ้น พุน้ำร้อน หนองหญ้าไพร” หมู่ที่ ๔ ตำบลด่านช้าง กิ่งอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกกฏกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยบังอาจก่นสร้างแผ้วถางและเผาป่าเพื่อปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนและทำไร่ เป็นเหตุให้ต้นไม้และของป่าถูกทำลาย ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔,๓๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๕๔, ๗๒ ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ฯลฯ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๕๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ ตรี แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ เดือน ฯลฯ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔
โจกท์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔,๓๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๕๔, ๗๒ ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ คนละ ๓ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือของนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเรื่องราษฎรเข้าทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการกระทำผิด
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ทราบข้อความตามหนังสือดังกล่าวหลังที่เกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจตามหนังสือฉบับนั้นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด การที่หนังสือดังกล่าวไม่ให้เอาผิดราษฎรที่เข้าทำไร่นาป่าสงวนอยู่ก่อนแล้วและถูกเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังไว้ก็ให้ปล่อยตัวไปนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ฯลฯ
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลฎีกาจะลงโทษจำเลย ก็ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share