คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีสิทธิ์เรียกเบี้ยปรับจากจำเลยได้ตามสัญญา เมื่อธนาคารผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ชำระเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิ์เรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวนที่ยังเหลือได้ หาใช่เป็นการเรียกค่าปรับซ้อนกันไม่
แม้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาในฐานะตัวแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มิใช่ในฐานะส่วนตัว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
กรมตำรวจเป็นกรมในรัฐบาลย่อมเป็นนิติบุคคลมีอำนาจฟ้องหรือเป็นโจทก์ได้ ไม่จำต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นโจทก์ ทั้งมีอำนาจมอบให้หัวหน้ากองพลาธิการ กรมตำรวจฟ้องคดีได้ด้วย
แม้ในใบมอบอำนาจระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ประเภทไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย การฟ้องคดีของโจทก์จึงถูกต้องตามใบมอบอำนาจแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกเบี้ยปรับหรือนัยหนึ่งค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าของคู่สัญญาจึงไม่จำเป็นต้องบรรยายอีกว่าเสียหายอะไร อย่างไร ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ความเสียหายที่คู่กรณีได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นค่าปรับในสัญญาแล้วนั้น การปรับตามสัญญาไม่ได้หมายความเฉพาะแต่ในการส่งทรัพย์สินล่าช้าเท่านั้น หากแต่รวมถึงการไม่ส่งด้วย
เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้ว สิทธิ์ของโจทก์ในการคิดดอกเบี้ยย่อมมีขึ้นหากจำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาล่าช้า และศาลมีอำนาจกำหนดให้จำเลยชำระได้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(3)
คดีแพ่งและทนายโจทก์เป็นข้าราชการกรมอัยการ เมื่อจำเลยแพ้คดี ศาลก็มีอำนาจให้จำเลยชำระค่าทนายความแทนโจทก์ได้ เป็นการชำระให้แก่คู่ความที่ชนะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาขายร่มบุคคลและร่มทิ้งของให้โจทก์ โดยจะต้องส่งมอบให้โจทก์ภายใน ๑๕๐ วันนับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยไม่นำร่มมาส่งมอบให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนด ยอมให้ปรับเป็นเงินร้อยละ ๕ ของราคาทั้งหมดที่ยังไม่ได้ส่งโดยคิดเป็นรายเดือนจนกว่าจะส่งครบตามสัญญา และให้โจทก์บอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้ ในการนี้ธนาคารฯ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ ๑ เป็นเงินไม่เกิน ๔๓,๕๐๐ บาท นับแต่วันทำสัญญา จำเลยไม่ได้ส่งมอบร่มเลย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โดยจำเลยต้องเสียค่าปรับ ๑๘๗,๐๕๐ บาท แต่ธนาคารฯ ได้ชำระให้โจทก์ตามสัญญาประกันแล้ว ๔๓,๕๐๐ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าปรับ ๑๔๓,๕๕๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคล พลเอกประภาศ จารุเสถียร ไม่มีอำนาจลงชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ หนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความให้ฟ้องจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยลงชื่อเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะส่วนตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการที่ไม่ได้ส่งมอบร่มเท่านั้น ซึ่งธนาคารฯ ก็ชำระเงินให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดอีกและเป็นการเรียกร้องค่าปรับซ้อนค่าปรับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าปรับ ๔๖,๕๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒,๐๐๐ บาท ค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเฉพาะในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิ์เรียกร้องเบี้ยปรับจากจำเลยได้ตามหนังสือสัญญาหมาย จ.๒ ข้อ ๘ และตามข้อความในสัญญาโจทก์มีสิทธิ์เรียกเบี้ยปรับได้ถึง ๑๘๗,๐๕๐ บาท แต่ศาลล่างกำหนดให้เพียง ๙๐,๐๐๐ บาท และธนาคารผู้ค้ำประกันชำระให้โจทก์แล้ว ๔๓,๕๐๐ บาท จึงให้จำเลยชำระให้โจทก์อีกเพียง ๔๖,๕๐๐ บาท ก็นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว และกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการเรียกค่าปรับซ้อนกันดังจำเลยฎีกาไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาด้วย เพราะจำเลยที่ ๒ มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาในฐานะส่วนตัว แต่ลงชื่อในฐานะตัวแทนจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ก็ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่ากรมตำรวจเป็นกรมในรัฐบาลย่อมเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ จึงมีอำนาจฟ้องหรือเป็นโจทก์ได้ ไม่จำต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นโจทก์ และเมื่อเป็นนิติบุคคลและเป็นโจทก์ได้ก็มีอำนาจมอบให้พลตำรวจตรีสมชัยหัวหน้ากองพลาธิการ กรมตำรวจฟ้องคดีนี้ได้ด้วย และที่จำเลยว่าในใบมอบอำนาจระบุให้ฟ้องจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ไม่ได้ให้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ ๑ ประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย การฟ้องคดีของโจทก์จึงถูกต้องตามใบมอบอำนาจแล้ว
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ข้อนี้ก็ปรากฏจากฟ้องแล้วว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ปรากฏหรือกำหนดไว้แล้วในสัญญา คือฟ้องเรียกเบี้ยปรับหรือนัยหนึ่งค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าของคู่สัญญา จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายอีกว่าเสียหายอะไร อย่างไร หาเคลือบคลุมแต่ประการใดไม่
จำเลยอ้างว่า โจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้ว่าเสียหายอย่างไรบ้างตามสัญญาโจทก์คิดค่าปรับเมื่อมีการล่าช้าในการส่ง แต่กรณีนี้เป็นเรื่องบอกเลิกสัญญา และไม่รับซื้อร่มเสียเลย จะมาคิดค่าปรับร้อยละห้าเป็นรายเดือนไม่ได้ เห็นว่าเรื่องความเสียหายนี้คู่กรณีได้กำหนดกันไว้ล่วงหน้าเป็นค่าปรับในสัญญาแล้ว และการปรับตามสัญญาไม่ได้หมายเฉพาะแต่ในการส่งล่าช้าเท่านั้น หากแต่รวมถึงการไม่ส่งร่มด้วย
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ควรเสียค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเพราะเป็นการค้ากำไรซ้อนกำไร เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วสิทธิ์ของโจทก์ในการคิดดอกเบี้ยย่อมมีขึ้นหากจำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาล่าช้า และศาลมีอำนาจกำหนดให้จำเลยชำระได้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๓) ส่วนที่จำเลยอ้างว่าทนายโจทก์เป็นข้าราชการกรมอัยการ ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณประเภทเงินเดือนจากทางราชการอยู่แล้ว ไม่ควรจะได้ค่าทนายความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งและโจทก์มีทนายความ เมื่อจำเลยแพ้คดี ศาลก็มีอำนาจให้จำเลยชำระค่าทนายความแทนโจทก์ได้ เป็นการชำระให้แก่คู่ความที่ชนะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์.

Share