แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ก่อสร้างตลาดผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและยังก่อสร้างต่อไปโดยไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าเขตให้โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้องโจทก์ก็เพิกเฉย การที่จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงพูดกับคนงานของโจทก์บริเวณที่ทำการก่อสร้างว่า “งานบริษัทนี้ (หมายถึงบริษัทโจทก์) พวกคุณไม่ต้องมาทำอีกต่อไปแล้วพวกคุณไม่ต้องมาอยู่คอย เพราะคอยแค่ไหนก็ไม่สามารถจะทำได้ พวกคุณไปทำงานที่อื่นได้แล้ว บริษัทอื่นที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาก บริษัทเลว ๆ อย่างนี้หากพวกคุณขืนอยู่คอยต่อไปพวกคุณก็อดตาย ขณะนี้ผู้จัดการบริษัทนี้ก็ได้หลบหนีไปแล้วและบริษัทนี้ก็ไม่มีใบอนุญาตด้วย” เป็นการกล่าวเพื่อชี้แจงให้คนงานทราบว่าการก่อสร้างผิดแบบแปลนและใบอนุญาตหมดอายุ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคนงานอาจมีความผิดด้วย ขอให้คนงานหยุดก่อสร้างและอย่ารอทำงานเพราะกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คำกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ แม้การใช้ถ้อยคำจะไม่สมควรและเกินเลยไปบ้างก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
หนังสือรับรองของอธิบดีกรมอัยการที่จำเลยยื่นพร้อมฎีกาเป็นหลักฐานเช่นเดียวกับการที่อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกา ถือได้ว่าเป็นการรับรองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลากลางวัน จำเลยได้กล่าวข้อความอันเป็นการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อหน้าคนงานก่อสร้างและบุคคลอื่นว่า “งานบริษัทนี้ (หมายถึงบริษัทโจทก์) พวกคุณไม่ต้องมาทำอีกต่อไปแล้ว พวกคุณไม่ต้องมาอยู่คอย เพราะคอยแค่ไหนก็ไม่สามารถจะทำได้ พวกคุณไปทำงานที่อื่นได้แล้ว บริษัทอื่นที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาก บริษัทเลว ๆ อย่างนี้ หากพวกคุณขืนอยู่คอยต่อไปพวกคุณก็อดตาย ขณะนี้ผู้จัดการบริษัทนี้ (หมายถึงโจทก์ที่ ๒ ) ก็ได้หลบหนีไปแล้ว และบริษัทนี้ก็ไม่มีใบอนุญาตด้วย” ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงทำให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตลาดราชวัตร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทหมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๑(๑), ๕๙, ๘๓ ให้จำเลยแก้ข่าวให้โจทก์ทางหนังสือพิมพ์ปิดประกาศแก้ข่าวให้โจทก์ในที่เกิดเหตุด้วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์มีมูลจึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ลงโทษตามมาตรา ๓๒๘ ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับจำเลย ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยประกาศแก้ข่าวให้โจทก์ทางหนังสือพิมพ์และปิดประกาศแก้ไขให้โจทก์ ณ ที่เกิดเหตุเป็นเวลา ๗ วันติดต่อกันด้วย
จำเลยฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกาของจำเลย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์โต้แย้งมาในคำแก้ฎีกาว่า อธิบดีกรมอัยการมิได้ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกา แต่ทำหนังสือรับรองมาต่างหาก ผิดเงื่อนไขที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๑ บัญญัติไว้ ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า หนังสือรับรองของอธิบดีกรมอัยการที่จำเลยยื่นพร้อมฎีกา ถือได้ว่าเป็นการรับรองตามความประสงค์ของกฎหมายแล้ว เพราะเป็นหลักฐานเช่นเดียวกับการที่อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกา เมื่อฎีกาของจำเลยอธิบดีกรมอัยการได้รับรองให้ฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงชอบที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีโจทก์ที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของตลาดราชวัตร ส่วนจำเลยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารในเขตดุสิตให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อประมาณปี ๒๕๒๔ โจทก์ที่ ๑ ทำการก่อสร้างปรับปรุงตลาดราชวัตรใหม่ ครั้นวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๐ นาฬิกาเศษขณะทีโจทก์ที่ ๑ ปรับปรุงก่อสร้างตลาดราชวัตรยังไม่เสร็จ จำเลยกับพวกได้พากันไปที่บริเวณตลาดราชวัตรที่โจทก์ที่ ๑ กำลังทำการปรับปรุงก่อสร้าง แล้วพูดกับคนงานของโจทก์ที่ ๑ นับร้อยคนต่อหน้าพ่อค้าแม่ค้าที่มาฟังว่า ให้คนงานหยุดทำงานการก่อสร้างที่ผ่านมาแล้วต้องทุบทิ้ง เพราะก่อสร้างผิดแบบใครขืนทำต่อไปก็จะถูกจับกุมคอยอยู่อีกกี่ปีก็ไม่มีทางสร้างได้ ขืนอยู่ต่อไปก็จะอดตาย ทั้งผู้จัดการก็หลบหนีไปแล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยพูดชี้แจงแก่คนงานโดยผ่านเครื่องขยายเสียง และพูดว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นบริษัทเลว ๆ ใช่หรือไม่
พิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นบริษัทเลว ๆ นั้น เห็นว่าโจทก์มีนายเจษฎา พฤทธิวรวงษ์ นางรัศมี ยอดสกุล นายสมศักดิ์ ขันมณี นางรัตนา โกมลสุบิน และนางสุชาดา ปัญญาธรรมเลิศ เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยพูดต่อหน้าคนงาน พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนในบริเวณที่เกิดเหตุว่า บริษัทเลว ๆ อย่างนี้ ขืนทำงานไปก็มีแต่จะอดตาย ฯลฯ สำหรับนางรัศมี นายสมศักดิ์ นางรัตนา และนางสุชาดามีอาชีพค้าขายมิได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของคู่ความฝ่ายใด คำเบิกความพยานเหล่านี้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ฟังได้ว่าจำเลยได้กล่าวว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นบริษัทเลว ๆ จริง
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้พูดกับคนงานโดยผ่านเครื่องขยายเสียงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไปพูดกับคนงานในบริเวณที่ทำการก่อสร้างซึ่งอยู่ในตลาดราชวัตร เห็นได้ว่าสถานที่เช่นนั้นไม่ใช่ที่เงียบสงัด คดีได้ความจากโจทก์จำเลยต่อไปว่า จำเลยไม่ได้พูดกับคนงานเพียงคนเดียวหรือสองคน แต่พูดกับคนงานถึงร้อยคนเศษ จึงเชื่อว่าจำเลยต้องพูดผ่านเครื่องขยายเสียงจึงจะได้ยินกันทั่ว ศาลชั้นล่างฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยคดีในปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะจำเลยกล่าวข้อความตามฟ้องโดยสุจริตในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่นั้น จำเลยนำสืบฟังได้ว่า โจก์ก่อสร้างตลาดผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและก่อสร้างต่อไปโดยไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้องโจทก์ก็เพิกเฉย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีหนังสือหมาย ล.๑๑ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๖ ไปยังโจทก์ที่ ๑ ให้โจทก์ที่ ๑ ระงับการก่อสร้าง แล้วจำเลยให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ ๑ ต่อมาโจทก์ที่ ๒ หลบหนี พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับโจทก์ที่ ๒ ไว้ รายละเอียดปรากฏตามรายงานแจ้งผลคดีและหมายจับหมาย ล.๑๓ จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องเพื่อชี้แจงให้คนงานทราบว่า การก่อสร้างทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะก่อสร้างผิดแบบแปลนและใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ตามกฎหมายนั้นคนงานอาจมีความผิดด้วย ถ้าทางเขตจะแจ้งจับกุมคนงานก็ย่อมทำได้ แต่ทางเขตเห็นใจคนงาน จำเลยขอให้คนงานหยุดก่อสร้าง และอย่าได้รอทำงานเพราะกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนคนงานจะอดตาย ให้ไปหางานที่อื่นทำ เช่นนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่แม้จำเลยจะได้ใช้ถ้อยคำว่า “โจทก์ที่ ๑ เป็นบริษัทเลว ๆ” ตามที่วินิจฉัยไว้แล้วก็เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรและเกินเลยไปบ้าง จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๒) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์