คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลรู้ว่า ห. ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1 มาแจ้งขอย้ายชื่อ ห. จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 จำเลยที่ 3 ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 เป็นเท็จ จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบลในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของ ห. ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังรับแจ้งในฐานะนายทะเบียนตำบลเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1), 157
ในฟ้องเดียวกันโจทก์อาจบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และบรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความใน เอกสารและร่วมกันปลอมลายมือชื่อ ห. โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและ ประชาชนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๘๔, ๙๑, ๑๓๗, ๑๔๔, ๑๕๗, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๗, ๒๖๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องบางข้อ ปฏิเสธบางข้อ จำเลยที่ ๒ ชั้นแรกให้การปฏิเสธ ต่อมาให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๔, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ สำหรับจำเลยที่ ๓ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารสำหรับจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดสองกรรม ฯลฯ จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ (๑), ๑๕๗ ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ ๓ รู้จักกับนายหงษ์มานาน จำเลยที่ ๓ ย่อมจะรู้ว่านายหงษ์ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ ๒๔๙ มิใช่บ้านเลขที่ ๓๖๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ มาแจ้งขอย้ายชื่อนายหงษ์จากทะเบียนบ้านเลขที่ ๑๕๙ ไปอยู่บ้านเลขที่ ๓๖๓ ตามเอกสารหมาย จ. จำเลยที่ ๓ ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.๑๗ เอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ เป็นเท็จจำเลยที่ ๓ ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบล จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ ๑ แจ้งย้ายที่อยู่ของนายหงษ์ ซึ่งจำเลยที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จและยังกระทำการรับแจ้งในฐานะเป็นนายทะเบียนตำบลตามเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ และ จ.๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ (๑), ๑๕๗ ตามฟ้องข้อ (ก) จริง
ส่วนที่จำเลยที่ ๓ ยกข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ข้อ (ก) บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ ๓ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ และ ๑๗๕ ขัดแย้งกันเป็นฟ้องเคลือบคลุม อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ ๓ ยกขึ้นกล่าวอ้างได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ ๓ กระทำผิดแต่ละบทโดยฟ้องข้อเดียวกันโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ และในขณะเดียวกันบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความในเอกสารและร่วมกันปลอมลายมือชื่อนายหงษ์ แก้วมรกต โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ ๓ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นการร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน
ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จึงเป็นฟ้องเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share