คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ช. คนขับรถยนต์ของจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถเข้าไปในช่องทางเดินรถคันที่โจทก์ที่ 3 ขับเป็นเหตุให้รถชนกัน เป็นการบรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาในประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์มี 3 คน และไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิกระทำกิจการในนามห้างโจทก์ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เจ้าของทรัพย์สินนอกจากจะมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้แล้ว ยังมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย เมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหลังว่าโจทก์ที่ ๓ โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามมอบอำนาจให้นายจำเริญ ศุภประเสริฐ ฟ้องคดีแทน โจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๒ บ – ๘๗๓๓ ซึ่งให้โจทก์ที่ ๒ เช่าซื้อไป โจทก์ที่ ๓ เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ม.๒๖๘๕๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ นายชาย ใจหยุด ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ม.๒๖๘๕๒ ของจำเลยทั้งสองด้วยความประมาทเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๒ บ – ๘๗๓๓ ซึ่งโจทก์ที่ ๓ ขับเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันเสียหายนางสายลม อุทัยเก่า ภริยาโจทก์ที่ ๓ ซึ่งโดยสารมาในรถที่โจทก์ที่ ๓ ขับถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของนายชาย ใจหยุด โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เสียค่าซ่อมรถ รถเสื่อมสภาพและขาดประโยชน์จากการใช้รถรวมทั้งสิ้น ๓๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ เสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพนางสายลมและค่าขาดไร้อุปการะรวมทั้งสิ้น ๓๐,๖๙๐ บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ทั้งสองสำนวนให้การว่า นายจำเริญ ศุภประเสริฐ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสาม ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นลายมือชื่อปลอม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุม เดิมนายชาย ใจหยุด เคยเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างนายชายแล้ว นายชายขับรถคันเกิดเหตุโดยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้รู้เห็นยินยอม โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะเกิดเหตุได้ให้โจทก์ที่ ๒ เช่าซื้อรถไปแล้ว เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ที่ ๓ โจทก์ที่ ๓ ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองสำนวนขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายชาญ เกตุศิริ เข้าเป็นคู่ความแทนที่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าซ่อมรถและค่าเสื่อมราคารถให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๙๕,๐๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๓๐,๖๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละยอดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ทั้งสองสำนวนฎีกา
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจุดชนอยู่ตรงกิโลเมตรเท่าไรของถนน คนขับรถของโจทก์ขับด้วยอัตราความเร็วเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ ๓ ขับรถยนต์จากจังหวัดฉะเชิงเทรามุ่งหน้าไปทางเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานครครั้นถึงเขตมีนบุรีซึ่งเป็นที่เกิดเหตุนายชาย ใจหยุด ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จากเขตมีนบุรีมุ่งหน้าไปจังหวัดฉะเชิงเทราด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ นายชายขับรถเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถคันที่โจทก์ที่ ๓ ขับเป็นเหตุให้รถชนกัน เช่นนี้ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้วจำเลยเองก็ให้การต่อสู้คดีว่าคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ เพียงฝ่ายเดียวที่ประมาทขับแซงรถยนต์บรรทุกด้วยกันล่วงล้ำเข้ามาในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ ๒ จึงเกิดชนกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ไม่กล่าวรายละเอียดว่าซ่อมอะไรบ้าง คำฟ้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับฟังวินิจฉัยให้
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า การมอบอำนาจของโจทก์ที่ ๑ ให้นายจำเริญ ศุภประเสริฐ ฟ้องคดีแทนไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นๆ มิได้รู้เห็นยินยอม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามหนังสือรับรองสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.๖ ระบุว่า หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ ๑ มี ๓ คน คือนายอุดม อุดมมะนะ นายนิพนธ์ อุดมมะนะ และนายประเสริฐ และไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ ฉะนั้นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิกระทำกิจการในนามของห้างโจทก์ที่ ๑ ได้การที่นายนิพนธ์ อุดมมะนะ มอบอำนาจให้นายจำเริญ ศุภประเสริฐ ฟ้องคดีนี้ ตามเอกสารหมาย จ.๔ จึงเป็นการชอบแล้ว
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเพียงเจ้าของทรัพย์ไม่มีสิทธิฟ้องในมูลละเมิดได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ เจ้าของทรัพย์สินนอกจากจะมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้แล้ว ยังมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย เมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โจทก์ที่ ๑ จึงย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้
พิพากษายืน

Share