คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเงินเดือนและได้รับค่าพาหนะค่าที่พักซึ่งโจทก์ต้องไปทำงานต่างจังหวัดทุกเดือนเดือนละ 25 วันอีกต่างหากเป็นการเหมาจ่าย โดยลักษณะงานเวลาทำงานปกติของโจทก์อยู่ในต่างจังหวัด ดังนี้ เงินค่าพาหนะค่าที่พักจึงเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ และถือได้ว่าเป็นค่าจ้างโดยไม่คำนึงว่าจะเรียกเงินดังกล่าวอย่างไร (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 172/2524)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ เงินเดือนเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เงินค่าตอบแทนเป็นค่าพาหนะค่าเดินทางปฏิบัติหน้าที่ต่างจังหวัดเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ค่านายหน้าร้อยละสามเดือนละ ๔,๕๐๐ บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๕,๕๐๐ บาท ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน๔๖,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๖๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์กระทำความผิด จำเลยสั่งให้โจทก์ประพฤติตนให้ถูกต้องหลายครั้ง โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าพาหนะ ค่าเดินทางไม่ถือเป็นค่าจ้าง เงินเพิ่มร้อยละสามของสินค้าที่เก็บไว้ไม่ถือเป็นค่าจ้าง หากจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยก็มิใช่จำนวนมากดังฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือขัดคำสั่งของนายจ้างก็มิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ เมื่อเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งจงใจขัดคำสั่งของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าพาหนะค่าที่พักไม่ใช่ค่าจ้าง เงินค่านายหน้าถือเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมคำนวนค่าชดเชย รวมค่านายหน้า ๙๐ วันสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยคือ ๑๐,๕๙๑ บาท รวมกับเงินเดือนของโจทก์ ๙๐ วันสุดท้าย ๖,๐๐๐ บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๖,๕๙๑ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์มีข้อเดียวว่าค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายในการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานฝ่ายขายและเก็บเงินต่างจังหวัดได้รับเงินเดือนเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ค่าพาหนะค่าที่พักซึ่งโจทก์ต้องทำงานต่างจังหวัดเดือนละประมาณ ๒๕ วันอีกเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ทุกเดือนเป็นการเหมาจ่าย ดังนี้เห็นว่า โดยลักษณะงานของโจทก์ โจทก์ต้องออกทำงานต่างจังหวัดทุกเดือน เดือนละ ๒๕ วัน โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องประจำทำงานที่บริษัทจำเลย เวลาทำงานปกติของวันทำงานของโจทก์อยู่ในต่างจังหวัด ฉะนั้นเงินค่าพาหนะค่าที่พักที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานของโจทก์เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท จึงถือเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเรียกชื่อเงินจำนวนดังกล่าว เป็นค่าพาหนะค่าที่พักหรือชื่ออื่น ๆ เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒/๒๕๒๔ นายรัฐ ตรีสิน โจทก์บริษัทซัมมิทออยล์ จำกัด กับพวก จำเลย ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๖๘/๒๕๒๕และคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๗๗/๒๕๒๖ ที่ ศาลแรงงานกลางยกขึ้นอ้างไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าพาหนะค่าที่พักในคดีนี้เป็นค่าจ้างต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๓,๕๙๑ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share