คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาหลายรายได้บริจาคเงินซื้อเพื่อจะยกให้แก่มูลนิธิที่จะตั้งขึ้นในที่พิพาท จึงได้ใส่ชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ปกครองศาลเจ้าให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ก่อน เมื่อจำเลยเอาที่พิพาทไปจำนองและขายให้แก่บุคคลอื่นก็มีผู้ช่วยกันออกเงินไถ่จำนองและซื้อกลับคืนมา แล้วใส่ชื่อจำเลยและบุคคลอื่น ๆ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้ในโฉนด เพื่อป้องกันมิให้จำเลยนำไปจำนองหรือขายให้แก่ผู้อื่นอีก และได้ทำหนังสือกันไว้ว่ายินยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น การที่จำเลยและบุคคลอื่น ๆ เป็นเจ้าของที่พิพาทก็เป็นการถือกรรมสิทธิ์ไว้เพื่อมูลนิธิโจทก์นั่นเอง เมื่อโจทก์ได้รับอำนาจเป็นมูลนิธิแล้ว ที่พิพาทดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ได้รับอำนาจเป็นมูลนิธิเป็นต้นไป กรณีจึงหาได้เป็นการให้ที่ตกอยู่ในบังคับจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ไม่ เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมูลนิธิใช้ชื่อว่า “มูลนิธิส่งเสริมพุทธศาสนิกชน(ซำซัวสงเคราะห์)” จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เดิมที่ดินโฉนดที่ ๓๓๕๔, ๑๙๐๖ และ ๙๙๑๗ แขวงมหาพฤฒาราม (บางรัก) เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ ๑๙๑ ตารางวา ประชาชนมีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อโดยยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ศาลเจ้าซำอ้วงเอี้ย คงเหลือที่ดินอยู่อีก ๑๕๔ ตารางวา ที่ดินส่วนที่เหลือนี้ได้ตกลงมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิที่จะตั้งขึ้นมาในภายหลังและได้มีการตกลงกันให้จำเลยและผู้มีชื่อคนอื่น ๆ ในโฉนดถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ในขณะนั้น เมื่อได้มีการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นแล้ว จำเลยและผู้มีชื่อคนอื่น ๆ ในโฉนดจะได้มอบกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๖ มูลนิธิโจทก์ได้จดทะเบียนการจัดตั้งและได้รับอำนาจให้ดำเนินกิจการได้แล้ว โจทก์จึงได้แจ้งให้จำเลยและผู้มีชื่อคนอื่น ๆ ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้ จำเลยเพียงผู้เดียวไม่ยอมปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาจึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์ไม่ได้เป็นมูลนิธิตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ว่าให้เป็นผู้รับการให้ สัญญาให้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕, ๕๒๖ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๕๔, ๑๐๙๖, ๙๙๑๗ แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในกรณีที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาให้ที่ดินพิพาทไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายและโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่พิพาททั้งสามแปลงผู้มีจิตศรัทธาหลายรายได้บริจาคเงินซื้อเพื่อจะยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นในที่พิพาท จึงได้ใส่ชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ปกครองศาลเจ้าให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ก่อน และเมื่อจำเลยเอาที่พิพาทไปจำนองและขายให้แก่บุคคลอื่นก็มีผู้ช่วยกันออกเงินไถ่ถอนจำนองและซื้อกลับคืนมา แล้วใส่ชื่อจำเลยและบุคคลอื่น ๆ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้ในโฉนด เพื่อป้องกันมิให้จำเลยนำไปจำนองหรือขายให้แก่ผู้อื่นอีกและได้ทำหนังสือสัญญากันไว้ว่ายินยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นการที่มีชื่อจำเลยและบุคคลอื่น ๆ เป็นเจ้าของที่พิพาททั้งสามโฉนดก็เป็นการถือกรรมสิทธิ์ไว้เพื่อมูลนิธิโจทก์นั่นเอง เมื่อโจทก์ได้รับอำนาจเป็นมูลนิธิแล้ว ที่พิพาททั้งสามโฉนดดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ได้รับอำนาจเป็นมูลนิธิเป็นต้นไป กรณีเช่นนี้จึงหาได้เป็นการให้ที่ตกอยู่ในบังคับจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ ดังจำเลยฎีกาไม่ ทั้งปรากฏว่า มูลนิธิโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแล้ว ดังนี้จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share