คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิดได้บรรยายชัดแจ้งพอสมควรว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ค่าเสียหายแต่ละรายการเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะหลักฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์และมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาหรือการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ โจทก์สมรสกับภริยาก่อนใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด เพื่อความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินอันเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ได้ เพราะบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสได้มีอยู่แล้ว
โจทก์จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัดมือและเท้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สามารถใช้การได้เป็นปกติ แต่โจทก์กะประมาณค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโดยปราศจากพยานสนับสนุน เป็นการพ้นวิสัยที่ศาลจะหยั่งรู้ได้แน่นอนความเสียหายมีเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ และสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคสอง
จำเลย ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะว่ากล่าวเอาแก่จำเลย ที่ 2 ผู้เป็นคู่สัญญา แต่จะยกเหตุดังกล่าวมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลย ที่ 2 กับจำเลย ที่ 3 หาได้ไม่
เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยให้ลดค่าเสียหายซึ่งจำเลย ที่ 2 จะต้องชดใช้ให้โจทก์น้อยลง และการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลย ที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างชนรถจักรยานยนต์ซึ่งโจทก์ขับขี่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ทรัพย์สินเสียหาย ทั้งนี้โดยความประมาทของจำเลยที่ ๑ ฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๙๐๐,๒๑๙.๔๔ บาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถไปในธุรกิจส่วนตัว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่มีจำนวนสูงถึงตามฟ้อง หากจำเลยที่ ๓ รับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๘๔๘,๖๖๔.๔๖ บาท โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งพอสมควรแล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรและค่าเสียหายแต่ละรายการเป็นจำนวนเงินเท่าใด ส่วนหลักฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายจึงหาเคลือบคลุมไม่
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์สมรสกับภริยาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๙ ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๗ บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม มาตรา ๑๔๖๘ และ ๑๔๖๙ สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์และมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาหรือการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ถูกกระทำละเมิด แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่รถจักรยานยนต์ อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ด้วย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า ค่าผ่าตัดภายหน้าเพื่อตกแต่งบาดแผลของโจทก์ซึ่งศาลล่างกำหนดให้ ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเพียงการคาดคะเนโดยปราศจากหลักฐานการใช้จ่าย บาดแผลอาจหายได้เองตามธรรมชาติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัดมือและเท้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สามารถใช้การได้เป็นปกติ แต่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดนั้น โจทก์เพียงกะประมาณเอาโดยปราศจากพยานสนับสนุน โจทก์จะเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดย่อมแล้วแต่ว่าโจทก์จะเข้ารับการผ่าตัดในประเทศไทยหรือที่ประเทศออสเตรเลีย ถ้าหากผ่าตัดที่ประเทศออสเตรเลียโจทก์อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย จึงเป็นการพ้นวิสัยที่ศาลจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นมีแท้จริงเพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์เรียกได้ตามที่ใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามคำขอของโจทก์ โดยสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๔ วรรคสอง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ ๑.๗ และ ๑.๙ กล่าวคือ มิได้นำใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ ๑ มาแสดงต่อจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถ้าหากจำเลยที่ ๒ มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ ได้รับความเสียหายประการใดก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นคู่สัญญา จะอ้างมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่
แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๑ ฝ่ายเดียวและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย รวมทั้งจำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน ๗๓๗,๕๐๔.๓๑ บาท และเนื่องจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนลดน้อยลงและการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๗๓๗,๕๐๔.๓๑ บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าผ่าตัดภายหน้าเพื่อตกแต่งบาดแผลแก่โจทก์ตามที่โจทก์ใช้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท โดยศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันพิพากษา ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท และให้จำเลยทั้งสามเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าเสียหายซึ่งตนจะต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share