แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มี หรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะอันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เพื่อการค้าเมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกัน และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีกจึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้
การมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 24 เป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน การที่จำเลยจะจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนั้นการที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นจำนวน ๒ กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ อันเป็นอาวุธปืนสำหรับการค้า ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และจำเลยได้จำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๒๔,๗๒, ๗๓ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๖, ๘ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา ๗, ๒๔, ๗๒, ๗๓ ลงโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนเพื่อการค้าและฐานจำหน่ายอาวุธปืนทั้งสองกระทง ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๒๔, ๗๓ ลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๒๔ เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มี หรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีก จึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗ อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยมีอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวสำหรับการค้าไว้ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยได้จำหน่ายอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อนั้น พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๓ เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้จำเลยจะมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ก็ถือเป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน ไม่ต่างกัน เพราะการที่จำเลยจะจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีกดังนั้นการที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียวตั้งแต่เริ่มมีจนเลิกมีคือจำหน่ายอาวุธปืนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว
พิพากษายืน