คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ที่ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักฐานในสำนวน เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 54
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เฉพาะเป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก มีอาการมึนเมา นำของมึนเมาเข้ามาทำงานหรือดื่มของมึนเมาในเวลาทำงาน เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่พนักงานที่มีหน้าที่ดังกล่าว แม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์มีหน้าที่รับแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องต้อนรับหรือบริการแขกโดยตรง การที่โจทก์กระทำผิดข้อบังคับนี้จึง มิใช่กรณีร้ายแรง
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และเงินค่าบริการนั้น โจทก์ต้องยื่นเป็นฟ้องอุทธรณ์จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคล จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงแรมจำเลยโจทก์กระทำความผิดฐานเสพสุราหรือของมึนเมาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๕๔
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำความผิดของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เฉพาะเป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก มีอาการมึนเมา นำของมึนเมาเข้ามาทำงาน หรือดื่มของมึนเมาในเวลาทำงาน โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล ไม่ใช่เป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีหน้าที่รับแขกมาติดต่อกับโรงแรม อย่างน้อยแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขกโดยตรงตามความมุ่งหมายของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว การกระทำผิดของโจทก์จึงมิใช่กรณีร้ายแรง ส่วนในข้อที่ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๔ อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) และ (๔)
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและเงินค่าบริการนั้น โจทก์จะต้องยื่นเป็นฟ้องอุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าว จะขอให้คำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share